วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาสตร์ของรัฐศาสตร์ (Political Science)


ศาสตร์ของรัฐศาสตร์ (Political Science)

อ.วิชาญ ฤทธิธรรม
การศึกษารัฐศาสตร์ตามแนวตะวันตกมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 5 (สมัยเอเธนส์) นักปราชญ์คนสำคัญเช่น เพลโต อริสโตเติล มาจนถึงปัจจุบันศตวรรษที่ 21 รัฐศาสตร์จำเป็นต้องมีการอธิบายที่เป็นเหตุผล มีหลักการเนื่องจากรัฐศาสตร์ศึกษาความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่แยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
  • คนที่ทำหน้าที่บริหารหรือปกครองประเทศ เรียกว่ารัฐบาลหรือภาครัฐ (State)
  • ประชาชน ปัจจุบันเรียกว่าประชาสังคม(ประชาชนที่มีความรู้ มีเจตจำนง รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชมรม ชุมชนหรือองค์กรต่างๆ)
การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคนสองภาคส่วนนี้คือหน้าที่ของรัฐศาสตร์ ว่าพฤติกรรมของทั้งประชาชนและรัฐว่าเป็นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็นหรือไม่ 

หลักรัฐศาสตร์กว้างกว่าหลักกฎหมายเพราะรัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ในการปกครองเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ในขณะที่หลักกฎหมายก็มีศิลปะอยู่ด้วยแต่มุมมองของนักกฎหมายมักจะยึดอยู่กับความเป็นศาสตร์อย่างเดียว อริสโตเติลเคยพูดไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ว่า Law is reason not passion. กฎหมายทั่วโลกจึงต้องยึดหลักเหตุผลที่อยู่บนฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่รัฐศาสตร์มองว่าการบริหารความต้องการของประชาชนซึ่งประกอบด้วยความสุขความทุกข์ความเป็นธรรมซึ่งเป็นศิลป์เข้ามาประกอบด้วย. 

การอธิบายทางรัฐศาสตร์จะต้องประกอบด้วยทฤษฎีหลากหลาย เพราะรัฐศาสตร์เป็นสหวิทยาการ ราวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐศาสตร์ได้นำสาขาวิชาอื่นมาเสริมเพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้นในการหาคำตอบคำอธิบายทางรัฐศาสตร์ให้ได้ เช่น

  • สังคมวิทยา (Sociology)
  • จิตวิทยาสังคม (Social Psycology)
  • เศรษฐศาสตร์ (Economics)
  • เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) 
    เป็นต้น
ความหมายของรัฐและกฎหมาย 

ความหมายของรัฐ 
รัฐ คือ กลุ่มคนที่รวมกันอยู่ในดินแดนอันมีอาณาเขตแน่นอน และมีรัฐบาลซึ่งมีอํานาจอธิปไตย หรืออํานาจสูงสุดในการดําเนินการของรัฐทั้งในและนอกประเทศโดยอิสระ 

รัฐ ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ

1.            ประชากร หมายถึงประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในดินแดนหรือขอบเขตของรัฐนั้น
2.            ดินแดน หรือ อาณาเขตรัฐต้องมีดินแดน หรืออาณาเขตที่ตั้งที่แน่นอน จะมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ก็ได
3.            รัฐบาล รัฐจําเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทําหน้าที่ปกครอง ซึ่งเรียกว่า รัฐบาลเป็นผู้ทําหน้าที่คุ้มครองรักษาความสงบภายในป้องกันการรุกรานจากภายนอก การจัดการฯลฯ
4.            อํานาจอธิปไตย หมายถึง อํานาจสูงสุดในการปกครองของรัฐ ซึ่งทําให้รัฐมีอิสระเสรีภาพและความเป็นเอกราชในอํานาจอธิปไตยใน
รัฐมีแนวคิดเกี่ยวกับรัฐอยู่ 4 แนวทาง คือ
1.            รัฐในฐานะที่เป็นรัฐบาล (The state as government) ซึ่งหมายถึง กลุ่มบุคคลที่ดำรงตำแหน่งซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจในสังคมการเมือง
2.            รัฐในฐานะที่เป็นระบบราชการ (The state as public bureaucracy) หรือเครื่องมือทางการบริหารที่เป็นปึกแผ่นและเป็นระเบียบทางกฎหมายที่มีความเป็นสถาบัน ทั้งสองความหมายนี้เป็นการมองรัฐตามแนวคิดของนักสังคมศาสตร์ที่มิใช่มาร์กซิสต์
3.            รัฐในฐานะที่เป็นชนชั้นปกครอง (The state as ruling class) เป็นความหมายในแนวคิดของมาร์กซิสต์
4.            รัฐในฐานะที่เป็นโครงสร้างทางอุดมการณ์ (The state as normative order) ซึ่งเป็นแนวคิดของนักมานุษยวิทยา
ความหมายของกฎหมาย 

กฎหมาย หมายถึง ข้อบังคับ หรือกฎเกณฑ์ที่รัฐกําหนดขึ้นเพื่อควบคุมความประพฤติของประชาชนให้ปฏิบัติตามเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดและถูกลงโทษ 

ที่มาของกฎหมาย กฎหมายมีที่มาอยู่ 2 ทาง คือ

1.            มาจากจารีตประเพณี ที่มนุษย์ในสังคมได้ประพฤติและปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน โดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
2.            มาจากตัวบทกฎหมาย เป็นกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ตราขึ้นโดยผู้ที่มีอํานาจสูงสุดภายในรัฐนั้นๆ
ระบบกฎหมาย มี2 ระดับคือ
1.            ระบบจารีตประเพณี คือ กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร อาศัยจารีตประเพณีหรือคําพิพากษาของศาล โดยใช้เหตุผลของนักกฎหมายเป็นหลัก เช่น กฎหมายในประเทศอังกฤษ และประเทศในเครือจักรภพ
2.            ระบบลายลักษณ์อักษร คือ กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีลักษณะเป็นตัวบทและประมวลกฎหมายที่เขียน หรือพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหมวดหมู่ ซึ่งมีประวัติมาจากกฎหมายโรมันโดยระบบกฎหมายแบบนี้นิยมใช้กันในประเทศต่างๆประเภทของกฎหมาย
กฎหมายถ้าแบ่งตามข้อความกฎหมายแบ่งได้ 3 ประเภทคือ
1.            กฎหมายเอกชน คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนในฐานะเท่าเทียมกันเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน
2.            กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หรือ หน่วยงานของรัฐกับเอกชน อันได้แก่ ราษฎรทั่วไป ในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองที่มีอํานาจเหนือกว่าราษฎร กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครองกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยพิจารณาความอาญา
3.            กฎหมายระหว่างประเทศ คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือประชาชนในรัฐหนึ่งกับประชาชนอีกรัฐหนึ่ง โดยถือว่ารัฐนี้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศแบ่งออกเป็น 3 แผนกคือ 
1) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง 
2) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล 
3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.baanjomyut.com/library/political_science/index.html

ประวัติการศึกษารัฐศาสตร์ของไทย


การศึกษาด้านรัฐศาสตร์ของไทยเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน เพื่อรับคัดเลือกนักเรียนเข้ามาฝึกหัดเป็นข้าราชการตามกระทรวงต่างๆ ต่อมาได้มีการขยายการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพัฒนาโรงเรียนดังกล่าวเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งภายหลังได้สถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากเหตุดังกล่าวนี้ การศึกษารัฐศาสตร์จึงเริ่มต้นขึ้น โดยคณะรัฐศาสตร์แห่งแรก คือ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือ สิงห์ดำ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษารัฐศาสตร์ของไทย แห่งที่สอง คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ สิงห์แดง
คำว่า รัฐศาสตร์
คำว่ารัฐศาสตร์ หากพิจารณาโดยแยกศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า “POLITICAL SCIENCE” เพื่อกำหนดความหมายพื้นฐานของรัฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่า “POLITICS” ซึ่งหมายความว่า การเมือง นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า “polis” ในภาษากรีก หมายถึงนครรัฐ เป็นการจัดองค์กรทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ได้บังเกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว ในขณะที่ “SCIENCE” ก็คือศาสตร์ หรือวิชาในการแสวงหาความรู้ รัฐศาสตร์ตามรากศัพท์นี้ จึงเป็นวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการสร้างบ้านเมือง หรือการสถาปนาชุมชน/เมืองขนาดใหญ่ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้คนใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยความสันติสุข
นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้ที่ได้ให้ความหมายของคำว่ารัฐศาสตร์ที่น่าสนใจพึงกล่าวถึงได้แก่ ยูเลา (Heinz Eulau 1963, 3) ซึ่งกล่าวว่า รัฐศาสตร์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาว่าทำไมมนุษย์จึงคิดสร้างการปกครองมนุษย์ขึ้นมา
เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ (2508, 1-3) ให้นิยามของรัฐศาสตร์ว่าเป็น ศาสตร์ที่ว่าด้วยรัฐ (Science of the state) โดยเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ วิวัฒนาการของรัฐ และรัฐในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวกับองค์การปกครองหรือสถาบันทางการเมืองของรัฐ และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ของเอกชนหรือกลุ่มชนกับรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ตลอดจนจนแนวการศึกษาความคิดทางการเมืองอันมีอิทธิพลมหาศาลต่อความคิดของนักการเมืองเอกของโลก และต่อวิวัฒนาการของรัฐและการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองการปกครอง ในทำนองเดียวกัน จรูญ สุภาพ (2522, 1) ได้นิยามรัฐศาสตร์ว่าเป็น สาขาขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ (Social Science) ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การจัดองค์กรทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง และวิธีรดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ โดยความหมายดังนี้ รัฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับ 3 สิ่งคือ รัฐ สถาบันทางการเมืองการปกครอง และแนวความคิดทางการเมืองการปกครอง
มองลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับขอบข่ายเนื้อหาของการศึกษารัฐศาสตร์ เราจะได้นิยามความหมายของรัฐศาสตร์ว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการปกครองและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิด การรวม การเปลี่ยนแปลง และความเสื่อมของชุมชนการเมืองทั้งหลาย ตอลดจนรูปแบบของการปกครอง กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ชุมชนต่าง ๆ แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือทำการตัดสินใจ รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่ต่อกัน โดยเรื่องสำคัญ ๆ ที่ศึกษาได้แก่เรื่องความรุนแรง การปฏิวัติ การสงคราม ความสงบเรียบร้อย การปกครองแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ การเลือกตั้ง การบริหาร หน้าที่พลเมือง การสรรหาผู้นำ ความปลอดภัยของชาติกับองค์การระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์กับพฤติกรรมทางการเมือง การกำหนดนโยบายสาธารณะ อุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของฝูงชน (Eulau and March 1975, 5)
สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ (เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ 2508, 10) เห็นว่า รัฐศาสตร์คือ การศึกษาเกี่ยวกับรัฐ และวิธีการอันเหมาะสมที่สุด ในอันที่จะปฏิบัติตามวิชาการที่เกี่ยวกับรัฐ ขอบเขตของวิชารัฐศาสตร์จึงรวมถึงส่วนประกอบทุกส่วนในความสัมพันธ์ภายในและภายนอกรัฐ
ทินพันธ์ นาคะตะ (2541, 3) อธิบายว่า รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งสำคัญ ต่าง ๆ ประกอบด้วย กำเนิดและลักษณะของรัฐ สถาบันการเมืองการปกครอง อำนาจ การตัดสินตกลงใจและนโยบายสาธารณะ ระบบการเมือง รวมทั้งการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และหาคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ บังเกิดขึ้น
รัฐศาสตร์ในเชิงที่เป็นระเบียบการปกครอง อันแตกต่างไปจากคำว่า การปกครองที่หมายถึง ตัวกิจการที่ปฏิบัติ รัฐศาสตร์ในประการนี้จึงหมายความถึง ระบบของการปฏิบัติปกครอง โดยการจัดมาตรฐานและระเบียบภายในประชาคม (society) (เกษม อุทยานิน 2513, ข) ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในสาขาสังคมศาสตร์ ที่เป็นวิชาใหญ่ในบรรดาวิชาการว่าด้วยสังคมมนุษย์ (เกษม อุทยานิน 2513, ก)
ความหมายของรัฐศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวางของรัฐศาสตร์ ซึ่งผู้เรียบเรียงขอสรุปความหมายของรัฐศาสตร์โดยยึดความหมายดังที่ อานนท์ อาภาภิรม (2545, 2) ได้สรุปให้เห็นไว้ว่า รัฐศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับที่มาและพัฒนาการของรัฐ (Origin and Development of the State )การอธิบาย การวิเคราะห์และการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญและรัฐบาล กระบวนการทางการเมือง (Political Process) ระบบกฎหมาย (Law System) บทบัญญัติของรัฐที่ใช้บังคับต่อปัจเจกชน (Individual) และกลุ่มคน (Groups) รวมไปถึงการศึกษาถึงองค์การและกิจกรรมของพรรคการเมือง (Political Parties) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอุดมการณ์ระหว่างรัฐ การบัญญัติและการควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโดยวิธีการของกฎหมายระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) การกล่าวถึงนัยยะความหมายของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์อันมีคุณลักษณะในตัวที่เป็นแนวทางการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้เห็นภาพส่วนประกอบของรัฐศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปูพื้นฐานแก่ผู้ศึกษาที่จะทำความเข้าใจถึงขอบเขตของการศึกษา และโยงใยไปถึงแนวการศึกษาวิเคราะห์รัฐศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-2-31538.html

พัฒนาการการศึกษารัฐศาสตร์ในสังคมไทย


พัฒนาการการศึกษารัฐศาสตร์ในสังคมไทย
ในการวิเคราะห์พัฒนาการของการศึกษารัฐศาสตร์ในสังคมไทย ผู้เขียนได้กำหนดกรอบเพื่อเป็นตัวกำหนดประเด็นหลักในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒราการของรัฐศาสตร์ไทยด้วยการศักษาบทบาทของแรงผลักดันและเงื่อนไขสำคัญที่มีอิทธิพลต่อรัฐศาสตร์ไทยใน 3 ประการคือ (1) โครงสร้างทางอำนาจและระบอบการปกครองหรือนโยบายของรัฐ (2) สภาพเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และ (3) อิทธิพลของวิชาการรัฐศาสตร์ในลักษณะการวิเคราะห์ภาพรวม (macroscopic analysis) เพื่อสร้างความเข้าในแก่นักศึกษาและผู้สนใจรัฐศาสตร์ทั่วไป
เมื่อให้คำนิยามของรัฐศาสตร์ฮย่างง่ายว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองประเทศ (the science of government) แล้ว สำหรับสังคมไทย ควรจะได้รับการพิจารณาย้อนหลังไปถึงการปกครองในสมัยสุโขทัย เพื่อพิเคราะห์รูปลักษณะของรัฐศาสตร์ไทยนับแต่สมัยโบราณ ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า รัฐศาสตร์ไทยในเชิงหลักการปกครองล้านเมืองหรือหลักการปฏิบัติราชการ (มิใช่ความเป็นวิชาการหรือองค์ความรู้)ได้ถือกำเนิดขึ้นในสังคมไทยมาแล้วกว่า 600 ปี (นับจากอาณาจักรสุโขทัยได้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 1800) แตกต่างกันออกไปตามบริบทของสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย ในลักษณะและรูปแบบที่ต่างกันตามแต่เต้าผู้ปกครองหรือพระมหากษัติริย์จะนำมาใช้เป็นรูปแบบการปกครองราชอาณาจักร หรือได้รับอิทธิพลในเรื่องการปกครองจากอารยธรรมใด
ลักษณะของการปกครองในสมัยช่วงต้นสุโขทัย นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่า เป็นการปกครองแบบราชาธิปไตย หรือพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหาร ปกครองบ้นเมืองแต่เพียงผู้เดียว หรือมีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) แบบพิเศษซึ่งยึดถือกรอบความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติและสกุลเป็นพื้นฐานของการปกครอง ดังที่เรียกว่าเป็นรูปแบบ ปิตุราชาหรือพ่อปกครองลูก”(Patrimonialism) กล่าวคือ พระมหากษัตริย์มีฐานะเสมือนบิดาแห่งราชอาณาจักร ทางทำหน้าที่ปกครองลูก อบรมสั่งสอนราษฏร ให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เฉกเช่นเดียวกับพ่อที่อบรมบ่มสอนลูก นอกเหนือจากพระราชภารกิจในการบำรุงรักษาอาณาจักร อันรวมถึงการเป็นผู้นำกองทัพต่อสู้ปกป้องผู้รุกรานและหัวเมืองประเทศราชที่กระด้างกระเดื่องต่อพระราชดำราจในการปกครอง ส่วนในสมัยต่อมา การปกครองได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นการปกครองของกษัตริย์แบบธรรมราชา (The King of Righteousness) ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปฏิบัติธรรมและปกครองโดยยึดหลักศาสนาพุทธ (นิกายหีนยาน ฝ่ายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์) เรื่อง ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และราชจรรยานุวัตร และมีกลุ่มชนชั้นสูงอันที่เรียกว่า ลูกขุนได้แก่ เชื้อพระวงศ์และขุนนางข้าราชการทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาแนะนำในการบริหารบ้านเมือง (ดู คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2523, หน้า 5-6 ประกอบ)
รัฐศาสตร์ในความหมายของหลักการปกครองหรือหลักการบริการบ้านเมืองดังกล่าวข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะของการถ่ายทอดแนวคิดทางการปกครองผ่านกระบวนการอบรมกล่อมเกลาทางสังคมและระหว่างบุคคลในกลุ่ม ตามแนวทางคติธรรมการปกครองของลัทธิสังกาวงศ์ ซึ่งได้ถ่ายทอดมาในสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในสมัยตอนต้นสุโขทัย เนื่องจากแต่เดิมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นเวลาประมาณ 200 ปี อาณาจักรสุโขทัยอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักรขอม จึงยังผลให้เกิดการยอมรับคติทางการปกครองเกี่ยวกับพระราชอำนาจของกษัตริย์ตามคติลัทธิเทวราช (Incarnation of God)รวมไปถึงการปกครองโดยอิทธิพลความเชื่อผ่านวรรณกรรมสำคัญโบราณได้แก่ ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี คติความเชื่อเกี่ยวกับการปกครองดังกล่าวไปแล้วนั้น ก็มิได้มีลักษณะที่เป็นระบบระเบียบที่ชัดเจนและกระชับรัดกุมเท่าใดนัก โดยมีฐานะเป็นเพียง เครื่องมืออันหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความสับสนวุ่นวายและเสริมสร้างสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้เกิดการยอมรับเคารพ เชื่อฟังและศรัทธาจากประชาชน และหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง (จักษ์ พันธ์ชูเพ็ชร 2545, 7-8) กระนั้นลักษณะเช่นนี้กล่าวได้ว่าเป็นลักษณะร่วมของรัฐศาสตร์ไทยโบราณที่มีสืบเนื่องต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพียงแต่อาจมีความแตกต่างไปบ้างที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยอยุธยาตั้งอยู่บนพื้นฐานแบบนายปกครองบ่าว ซึ่งช่วยเสริมบทบาทพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ให้เด่นชัดมากกว่า เมื่อเทียบกับสมัยสุโขทัย หรือการรับอิทธิพลคติความคิดทางการปกครองจากลัทธิไศเลนทร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
แต่กระนั้นก็ดี สิ่งที่กำหนดการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แม้ว่าจะทรงมีอยู่อย่างไม่จำกัดนั้น นอกเหนือการคติธรรมการปกครอง การใข้ธรรมศาสตร์ดั้งเดิมหรือราชศาสตร์ของกษัตริย์ที่ทรงยึดถือเป็นหลักในการปกครองแล้ว ยังได้แก่ คัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ได้ตราขึ้นในแต่ละสมัยที่ผ่านมา เพื่อใช้บังคับแก่กิจการทั้งปวงพระราชอาณาจักร เช่น กฎหมายลักษณะรับฟ้อง พ.ศ. 1899 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้อนต้น เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในพระราชอาณาจักร แล้วยังได้กำหนดบทบาทของราชการในกรณีพิพาทเป็นความต่าง ๆ ของราษฎรหรือการกำหนดบทลงโทษแก่ไพร่ฟ้าที่ขัดขืนบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้ยังได้แก่ พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนฯซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับศักดินาและการแบ่งแยกชนชั้นในการปกครอง พระอัยการลักษณะอาญาหลวง และกฎมณเฑียรบาล ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญ รวมทั้งระเบียบเกี่ยวกับการศาล ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นต้น
อนุสรณ์ ลิ่มมณี (2541, 1) กล่าวว่า การศึกษารัฐศาสตร์สมัยใหม่ของไทย ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษปี 2490 มาจนถึงปัจจุบัน แต่รัฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นคู่มือหรือหลักการสำหรับการบริหารปกครองประเทศ และเป็นรากฐานของการศึกษารัฐศาสตร์ในสังคมไทยปัจจุบัน ได้ปรากฎให้เห็นตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 เป็นต้นมา ความข้อนี้พิจารณาได้จากบทความของพระยาสุนทรพิพิธ เรื่อง สืบประวัติรัฐศาสตร์ซึ่งได้กล่าวไว้ว้า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารรัฐและการปกครองแบบโบราณมาสู่ระบบราชการสมัยใหม่และคนรุ่นใหม่ให้แก่รัฐ อันนำไปสู่การศึกษารัฐศาสตร์ในระยะต่อมา 50 ในแง่นี้ หากเปรียบเทียบกับพัฒนาการของรัฐศาสตร์ในประเทศอื่นจะพบว่า ในแทบทุกสังคม การศึกษารัฐศาสตร์มิได้แยกออกไปจากการฝึกฝนเรียนรู้เรื่องการเมืองการปกครองและหลักการปฏิบัติทางการปกครองแต่ประการใด ทั้งยังมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้านอื่น มิได้มีฐานะของวิชาที่เป็นเอกเทศแยกออกมาจากสังคมศาสตร์เลย
การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นการปรับปรุงระบบบริหารราขการแผ่นดินของประเทศจากแบบดั้งเดิมที่ใช้สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งจำแนกการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง ลิดรอนหรือยกเลิกอำนาจของเจ้าเมืองและเจ้าหน้าที่ในเขตหัวเมืองและเมืองขึ้น รวมทั้งการจัดระเบียบสายการบังคับบัญชาเสียใหม่และสามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรในส่วนราชการต่าง ๆ (คึกฤทธิ์ ปราโมช 2527, 12)
การปรับปรุงระบบการบริหารงานและโครงสร้างของระบบราชการสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นต้นฉบับของการปฏิรูประบบราชการในประเทศไทยนั้น มีเหตุผลสำคัญหลายประการ ประการหนึ่งเป็นดังที่ซิฟฟิน (William Siffin) นักวิชาการต่างประเทศที่ได้ทำการศึกษาระบบราชการไทย ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “The Thai Bureaucracy:Institutional Change and Development” ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการตอบสนองผลกระทบที่มาจากประเทศตะวันตก เพื่อให้ระบบราชการไทยมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับประเทศตะวันตก อันจะเป็นการช่วยรักษาเอกราชของประเทศไทยจากการรุกรานและการล่าอาณานิคมของจักวรรดิ์นิยมอังกฤษและฝรั่งเศสไว้ได้ (Siffin, 1966 อ้างถึงใน วรเดช จันทรศร 2534, 48) นอกจากนี้แล้ว แรงกดดันให้เกิดการปรับตัวของระบบราชการไทย ยังเป็นไปด้วยสาเหตุประการด้านหนึ่งที่พระองค์เอง ทรงเผชิญปัญหาใน 2 ประการ ประการแรก เกิดจากการที่ทรงไม่มีพระราชอำนาจอย่างเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการที่ได้ทรงเสวยราชย์ตั้งแต่ยังทรงเยาว์พระชันษา อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินโดยพฤตินัย จึงตกอยู่ภายใต้การสำเร็จราชการแทนของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางผู้ใหญ่บางกลุ่มภายใต้ระบบศักดินาเช่น ตระกูลบุนนาค จึงได้สะสมผู้คน อันเป็นแรงงานไว้เพื่อประโยชน์ของตน เพื่อสร้างฐานอำนาจและความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มของตน จนถึงขั้นที่ความเข้มแข็งของขุนนางกระทั่งได้กลายสภาพเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและท้าทายต่อพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรวมไปถึงพระราชอำนาจในการควบคุมทรัพยากรสำคัญที่เป็นฐานอำนาจทางการเมือง เยื่องจากอำนาจดังกล่าวตกอยู่กับผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ประการที่สอง คือการคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม (colonialism) จากต่างชาติตะวันตกที่มีอยู่ทั่วไปโดยรอบประเทศ อันเป็นภยันตรายต่อความเป็นเอกราชของประเทศไทยในสมัยนั้น
ในพระราชประสงค์ที่จะผนวกพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปฏิรูประบบราชการนั้น ทรงได้จัดการวางระบบและมาตรฐานการบริหารงานราชการเช่นเดียวกับประเทศทางตะวันตกเพื่อสถาปนาความเข้มแข็งให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันได้แก่ การที่ได้ทรงวางระเบียบปฏิบัติของข้าราชการหรือเจ้าพนักงานของรัฐให้เป็นไปในแบบฉบับเดียว ภายใต้รูปแบบใหม่ของระบบราชการไทยที่ทแตกต่างไปจากรูปแบบการปกครองแบบจตุสดมภ์และการปกครองส่วนภูมิภาคที่ยังคงใช้ต่อเนื่องกันมาจับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังรวมไปถึง การกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนจากการทำงานราชการหรือรับราชการในรูปของเงินเดือน และเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเข้มแข็งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงเริ่มกระบวนการปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบตะวันตก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2425-2435
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินในพระองค์ดำเนินไปได้ด้วยดี มีความทันสมัยเฉกเช่นเดียวกับในประเทศตะวันตก ซึ่งจำต้องอาศัยการปรับปรุงองค์กรทางการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพค้ำจุนพระราชอำนาจในลักษณาการรวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นแกนหลักทางอำนาจการปกครอง (ภารดี มหาขันธ์, 2524) ภารกิจอันใหญ่หลวงยิ่งในพระองค์นั้น ย่อมมิได้เป็นแต่เพียงการสร้างสถาบันราชการที่ประกอบด้วยกรมหรือกระทรวงต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ปกครองนโยบายการสร้างชาติและอำนาจของรัฐเท่านั้น หากแต่ในอีกลักษณะหนึ่งยังประกอบไปด้วยการสร้างวัตรปฎิบัติของระบบราชการที่มีความสุจริตยุติธรรม และการแสวงหาความรู้เป็นสำคัญ (ลิขิต ธีรเวคิน 2539, 48 ดูประกอบกับ Likhit Dhriravekin, 1975 และชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2539) และต้องมีข้าราชการสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกเป็นผู้ปฏิบัติงานต่างพระเนตรพระกรรณในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งขึ้นตามแนวอารยประเทศ
ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุความเป็นมาของการปฏิรูประบบราชการไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจะมีส่วนเป็นอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการของรัฐศาสตร์ในสมัยนั้น โดยเฉพาะในประเด็นที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ว่าการเพิ่มจำนวนบุคลากรข้าราชการ เป็นวิธีดำเนินการประการหนึ่งเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งจะได้วิเคราะห์ให้เห็นต่อไป
การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่เมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้เริ่มปรากฏชัดในปี พ.ศ. 2437 ภายหลังจากที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งกระทรวงต่าง ๆ ตามแบบราชการตะวันตกให้ครอบคลุมการปฏิบัติงานของรัฐสมัยใหม่ และได้ทรงแต่งตั้งเสนาบดีครบทุกกระทรวง ได้ปรากฎปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือการขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถของกระทรวงมกาดไทยในฐานะที่เป็นกลไกอำนาจรัฐหลักในการจัดระเบียบการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินที่จะเข้ามาทำงานในระบบการปกครองส่วนภูมิภาคแบบเทศาภิบาล (จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ 2527, 292) อันเป็นภารกิจหลักที่จักต้องดำเนินการท่ามกลางความพยายามต่าง ๆ ที่จะพัฒนารัฐไทยสมัยใหม่ให้เจริญก้าวหน้าเยี่ยงอารยะประเทศ
ความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้าราชการหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถป้อนระบบราชการสมัยใหม่ เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ได้จำเพาะอยู่แต่สำหรับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจัดว่าเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องใช้ข้าราชการประจำมากกว่ากระทรวงอื่นในระดับภูมิภาคเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความจำเป็นสำหรับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ด้วยเพียวแต่จำนวนที่จ้องการยังมีสัดส่วนจำนวนน้อยและโครงสร้างการจัดส่วนราชการก็มีอยู่ในส่วนกลางเสียเป็นด้านหลัก และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงได้ริเริ่มใช้วิธิการฝึกอบรมและฝึกหัดนักเรียนภายในกระทรวงและจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เพื่อผลิตข้าราชการส่งออกไปทำงานตามจังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ ที่ขอมา
แต่กระนั้นก็ดี ในการผลิตข้าราชการไปทำงานดังกล่าวกลับได้พบว่า ข้าราชการมีความรู้เฉพาะแต่ในด้านการปฏิบัติงานในหน่วยงานเท่านั้น โดยยังขาดความรู้ในเรื่องการปกครองท้องที่ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็นออย่างยิ่งสำหรับการปกครองราชการส่วนภูมิภาค (จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ 2527, 297) ข้อนี้ยังผลให้กระทรวงมหาดไทยในยุคนั้นได้หันมาเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลักสูตรการฝึกหัดอบรมนักเรียนฝึกหัด ให้มีความรู้เรื่องการปกครองท้องที่ควบคู่ไปกับความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน และได้มีการยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2442 โดยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานนามเป็น สำนักสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนซึ่งนับเป็นหนึ่งในสาม สถาบันการศึกษาชั้นสูงรุ่นแรกที่มีการประสิทธิประสาทวิชาการความรู้หรือวิชาการสมัยใหม่ในระดับที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษา นอกเหนือไปจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430) และโรงเรียนกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2542, 25)
สำนักฝึกหัดข้าราชการพลเรือนดังกล่าว เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบนดีกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2442 อันมีรากฐานจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่ทรงไม่สู้รู้จักกับขุนนางรุ่นใหม่สักเท่าใดนัก อันส่งผลให้ขุนนางเหล่านี้ ขาดความรู้แห่งขนบธรรมเนียมในราชสำนัก และแม้แต่ขาดความรู้ในพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดิน (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ 2546, 26)
ต่อมาภายหลัง สำนักฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมหาดเล็กในปีพ.ศ. 2445 (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2519, 1) และยกฐานะเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนในปี พ.ศ. 2453 สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

สำนักฝึกหัดข้าราชการพลเรือน มีภารกิจประการสำคัญที่แท้จริงในการฝึกหัดเฉพาะข้าราชการฝ่ายปกครอง ป้อนให้กับกระทรวงมหาดไทยเป็นด้านหลัก โดยพิจารณาได้จากตัวเนื้อหาสิ่งที่เรียนที่สอนส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยวิชาเสมียน วิชากฎหมาย วิชาระเบียบราชการ วิชาฝึกงาน และอื่น ๆ ที่จำเป็น รวมถึงแนวแห่งราชประเพณีนิยมในกระทรวงมหาดไทย (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ 2546, 27) ซึ่งแม้จะมีกระทรวง ทบวง กรมอื่น ได้รับบรรจุบัณฑิตจากสำนักฝึกหัดข้าราชการพลเรือนไปบ้าง แต่ก็นับเป็นส่วนน้อย ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากความนิยมและความสนใจของบุตรหลานขุนนางน้อยใหญ่ ที่เป็นกลุ่มซึ่งมีโอกาสได้รับการศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา ยังคงให้น้ำหนักความสนใจไปที่สายการปกครองมากกว่าอื่นใด
รัฐศาสตร์ในยุคของการปรับปรุงประเทศ ซึ่งเริ่มต้นจากช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงกล่าวได้ว่า มีเนื้อหาสาระอยู่กับสาขาวิชาการแกนหลักคือวิชาการที่เกี่ยวกับการปกครองและการจัดการบริหารงานบ้านเมือง และวิชาการที่เกี่ยวกับเทคนิคและกระบวนการในการพัฒนาประเทศ * โดยพัฒนาการของการนำความรู้ทางรัฐศาสตร์มาใช้นั้น มีเป้าประสงค์สำคัญอยู่ที่การดำเนินการปรับปรุงประเทศเพื่อให้เท่าทันและ เท่าเทียมกับนานาอารยะประเทศ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ 2546, 1) ที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับรัฐสยาม ผ่านการนำวิชาการความรู้รวมถึงเทคนิควิทยาการการบริหารงานใหม่ ๆ ที่เชื่อกันว่าทันสมัยมาจากซีกโลกตะวันตก ซึ่งก็ได้ส่งผลให้ราชสำนักต้องขยายบทบาทพิเศษในการสร้างคนและสร้างความรู้ สำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการบ้านเมืองและปกครองดูแลประเทศตามแนวทางที่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงทรงสนับสนุนให้เปิดสอนเป็นสาขาวิชาหนึ่งขึ้นคือ สาขาการปกครอง (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ 2546, 25)
กระนั้นก็ตาม โดยข้อเท็จจริงที่ระบบการปกครองในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยึดถือความเป็นใหญ่ของพระมหากษัตริย์ จึงนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่าวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่นำเข้ามาจกาสังคมตะวันตกภายใต้ลักษณะการปกครองดังกล่าวจะเป็นไปในแนวทางใด จากการศึกษาค้นคว้าของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (2542, 25) พบว่า ได้มีการพัฒนาวิชารัฐศาสตร์ขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งหากเนื้อหาใดที่กระทบกระเทือนต่อการปกครองระบอบดังกล่าว ก็แทบจะไม่มีการสอนกันเลย ยกตัวอย่างเช่น วิชากฎหมายปกครอง ซึ่งมีในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ได้ถูกนำมาสอนกันอย่างเป็นจริงเป็นจังในปี พ.ศ. 2474 สมเกียรติ วันทะนะ (2524, 485 อ้างถึงใน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2542, 25) เรียกรัฐศาสตร์ในสมัยนี้ว่า รัฐศาสตร์แบบพระพุทธเจ้าหลวงหรือ รัฐศาสตร์แบบรัฐประชาชาติยุคก่อตัวอันมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolutist State) ที่ยึดหลักแนวทางการบริหารจัดการการเมืองการปกครองไว้ที่ความสำนึกในพันธกิจของชนชั้นสูง
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงขยายการศึกษาด้านการปกครองให้กว้างขวางออกไปอีกกล่าวคือ ทรงมิได้เน้นแต่การผลิตข้าราชการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นส่วนใหญ่เท่านั้นแต่ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เปลี่ยนชื่อมาจากโรงเรียนมหาดเล็ก) ออกไปรับราชการในสังกัดกระทรวงอื่น ๆ ที่ขอมาอีกด้วย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นจุดมุ่งหมายของการผลิตบัญฑิตเช่นเดียวกันในสมัยก่อนหน้า
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สืบเนื่องมา รัฐไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาประเทศ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทย รวมถึงบทบาทของประเทศสหรัฐอเมริกา วิชาการความรู้ด้านต่าง ๆ ได้เติบโตก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในสาขาวิชารัฐศาสตร์ อันก่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนในวิชาการความรู้ทางการเมืองการปกครองแนวใหม่ที่ต่างไปจากเคยเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมักเรียกกันว่า วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้นในปี พ.ศ. 2477 ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป
ส่วนการศึกษาในเรื่องรัฐศาสตร์ในยุคสมัยดังกล่าว ได้ถูกจัดให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของ โรงเรียนรัฎฐประศาสนศึกษา” (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2519, 3) โดยหากได้พิจารณาเนื้อหารายวิชาที่ทำการเรียนการสอนจะพบว่า การศึกษาได้มุ่งเน้นไปในเรื่องของการปกครองและการศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กฎหมายปกครอง กฎหมายอรรถ คดีและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นต้น ซึ่งก็ถือได้ว่ามิได้มีความแตกต่างไปจากหลักสูตรและรายวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนมหาดเล็กเท่าใดนัก ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ของโรงเรียนต่าง ๆ เหล่านี้ ต่างบรรจุรายวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติราชการภายใต้ความมุ่งประสงค์ที่จะผลิตข้าราชการอยู่เช่นเดิม ลักษณะเช่นนี้ อนุสรณ์ ลิ่มมณี (2541, 21) อธิบายว่า การเรียนการสอนรัฐศาสตร์ของไทยดังกล่าว เป็นไปเช่นเดียวกับสถาบัน Ecole Libre des sciences politiques ของประเทศฝรั่งเศส และการศึกษาที่เรียกว่า “staatswissenschaft” ในประเทศเยอรมนีที่ในขณะนั้นก็มุ่งผลิตเจ้าหน้าที่ไปทำงานในหน่วยงานของรัฐด้วยหลักสูตรที่ประกอบไปด้วยวิชาที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติราชการเป็นหลัก โดยไม่วิชาที่เรียกว่าเป็นวิชารัฐศาสตร์โดยตรงเลยแม้แต่วิชาเดียว
ความคล้ายคลึงกันทั้งในแง่ปรัชญาการผลิตบัณฑิตและหลักสูตรการเรียรการสอนวิชารัฐศาสตรไทยกับในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันเช่นที่กล่าวไปนั้น น่าจะเป็นไปดังที่ จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ (2527, 304) กล่าวไว้ว่าเนื่องมาจากการที่ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก คือ พระยาวิสุทธิศักดิ์ รวมทั้งพระยาศรีวรวงศ์ ผู้บริหารโรงรียนในสมัยนั้น ต่างเป็นผู้ได้รับการศึกษามาจากประเทศในยุโรป ซึ่งก็เป็นไปได้ที่ทั้งสองท่านจะได้นำเอารูปแบบการเรียนและการจัดการศึกษามาใช้ในประเทศไทยไม่มากก็น้อย
การจัดการเรียนการสอนและการสอนเพื่อผลิตข้าราชการชั้นสัญญาบัตรออกไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยเป็นด้านหลักเช่นในโรงเรียนรัฎฐประศาสนศึกษา ได้ถูกส่งต่อภารกิจให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2459 ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหาการเรียนการสอน ซี่งดูจะเป็นเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในแง่การยกฐานะการสอนรัฐศาสตร์ไทยขึ้นสู่การศึกษาระดับสูงในมหาวิทยาลัยเท่านั้น เนื่องจากวิชาในเน้อหารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ยังประกอบไปด้วยวิชาด้านกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติราชการต่าง ๆ ซึ่งหนีไม่พ้นการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐล้วน ๆ โดยมิได้มีรายวิชาใดกเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโดยตรงแม้แต่รายวิชาเดียว (ดูระเบียบคณะรัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2471) ความข้อนี้จึงเป็นข้อสรุปที่เน้นย้ำให้เห็นว่าการจัดตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่แรกนั้นเป็นไปเพื่อผลิตบัณฑิตออกไปเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ ปลัดจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด (พิจารณาดูจากทัศนะของปรีชา หงษ์ไกรเลิศ 2530, 18-31) ดังที่เคยเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute monarchy) มาเป็นการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional regime) เป็นปัจจัยภายนอกด้านหนึ่งทาส่งผลกระทบต่อการศึกษารัฐศาสตร์ในสังคมไทย นอกจากนั้นยังได้แก่การก่อตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2476 และการเปิดการเรียนการสอนด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมา)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง มีหน้าที่หลักคือการจัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ 2546, 48) เป็นด้านหลัก จัดตั้งขึ้นโดยการโอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาไว้ (ดูรายละเอียดใน บุญเย็น วอทอง 2512, 38-39) สาขาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นสาขาวิชาแรกของระบบการอุดมศึกษาไทยในแนวใหม่ ที่ได้จัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่เปิดให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ มิใช่จำกัดคัดคนแค่เพียงจำนวนเล็กน้อยซึ่งเป็น ลูกท่านหลานเธอหรือ ลูกผู้ดีมีตระกูลเช่นที่ผ่านมา (ไพฑูรย์ สินลารัตน์ 2546, 49)
อย่างไรก็ดี ในบางช่วงประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า การจรรโลงรัฐศาสตร์ ในระยะเริ่มต้นให้เจริญเติบโตนั้น นับเป็นบทบาทของคณะรัฐศาสตร์ จากรั้วมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั่งนี้เนื่องจาก ในปีเดียวกันที่ได้รัดตั้งคณะนิติศาสตร์ละรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเองคณะดังกล่าวได้ถูกยุบไปรวมกับคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ภายใต้ลักษณะการศึกษาที่มีเป้าหมายให้ความรู้ด้านการเมืองการปกครองแกคนทั่วไปโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายและการเมือง เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยที่เพิ่มจะเริ่มเบ่งบานขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปี พ.ศ. 2475 และส่งเสริมการศึกษาเฉพาะด้านในระดับปริญญาโทหรือบัณฑิตศึกษา และปริญญาเอกแต่กระนั้นก็ดี สาระสำคัญของหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในช่วงแรกนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่าใดนัก เนื่องจากวิชาที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรส่วนใหญ่ยังเป็นวิชาด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการต่าง ๆ โดยวิชาด้านรัฐศาสตร์ได้ถูกสอดแทรกอยู่ในวิชากฎหมาย อาทิ วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายปกครอง (อนุสรณ์ ลิ่มมณี 2541, 21) นอกเหนือจากนี้ การเรียนการสอนรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดขึ้นเพิ่มเติมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อันได้แก่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในช่วงทศวรรษ 2490-2510 ก็ยังคงมีวัตถุประสงค์สำคัญเฉกเช่นเดียวกันคือการผลิตบัณฑิตออกไปเป็นข้าราชการ โดยเฉพ่ะกระทรวงมหาดไทย (ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ 2530, 28-29)
สถานภาพของรัฐศาสตร์ไทยที่มุ่งผลิตบัณฑิตตอบสนองระบบราชการหรือทำงานให้แก่ภาครัฐโดยเฉพาะข้าราชการฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบการเรียนการสอนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2527, 12) เรียกว่า วิชาการปกครองราษฎรดังกล่าวข้างต้น ได้ส่งเสริมให้สถานภาพของรัฐศาสตร์ไทยมีความเป็นวิชาชีพ (professional)มากกว่าความเป็นองค์ความรู้เชิงวิชาการ (academic) ความเป็นวิชาชีพของรัฐศาสตร์เช่นนี้มีเครื่องชี้ให้เห็นได้ในหลายประการดังทัศนะของธเนศวร์ เจริญเมือง (2545, 24-25) ซึ่งได้แก่ การกำหนดให้วิชารัฐศาสตร์ของแต่ละสถาบันมีรูปสิงห์ซึ่งหมายถึงกระทรวงมหาดไทย เป็นสัญลักษณ์ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้สัญลักษณ์สิงห์ดำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้สัญลักษณ์สิงห์แดง มหาวิทยาลัยรามคำแหงใช้สัญลักษณ์สิงห์ทอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้สัญลักษณ์สิงห์ขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้แก่คำขวัญของแต่ละสถาบันที่กล่าวถึงความเป็นนักปกตรอง รวมทั้งชื่อคณะที่มีการเปลี่ยนจากเดิมที่เป็น ศิลปศาสตรบัณฑิตเป็น รัฐศาสตรบัณฑิตในขณะที่อิทธิพลทางวิชาการของรัฐศาสตร์จากต่างประเทศโดยเฉพาะองค์ความรู้จากประเทศสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มจำมีบทบาทในการสร้างความเป็นวิชาการของรัฐศาสตร์ไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง ที่ได้กล่าวมา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่บ่งชี้สถานภาพความเป็นวิชาชีพของรัฐศาสตร์เหนือความเป็นวิชาการ อันถือว่าเป็นลักษณะสำคัญของรัฐศาสตร์ในสังคมไทย
กล่าวกันว่า รัฐศาสตร์สมัยใหม่ของไทย ถือกำเนิดขึ้นมาท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้าง อำนาจทางการเมือง ในสังคมไทย อย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงชนชั้นนำทางการเมืองในสังคมไทยจากกลุ่มคณะราษฏร มาสู่กลุ่มทหารบกในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ และประการที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงผู้นำโลกจากอังกฤษมาสู่สหรัฐอเมริกาและการขยายบทบาทของอเมริกามายังประเทศในกลุ่มที่กำลังพัฒนาในลักษณะของความรวมมือและความช่วยเหลือทางวิชาการและการเงินเพื่อการพัฒนาประเทศตามครรลองของระบบทุนนิยมเสรีและอุดมการณ์การเมืองประชาธิปไตยระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ผ่านองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ อันได้แก่ ธนาคารโลก (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ความร่วมมือและช่วยเหลือทั้งทางการเงินและวิชาการดังกล่าว นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดการยอมรับและส่งเสริมรัฐศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือโดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่ 2510 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงการขขยายพรมแดนความรู้ แนวคิด หลักการ กรอบทฤษฎีและวิธีวิทยาจากตะวันตก โดยได้นำเข้ามาใช้ในการค้นคว้าวิจัยในสังคมการเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทีละเล็กทีละน้อย กระทั่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2542, 46) และนับประมาณ 3 ทศวรรษจากนั้น รัฐศาสตร์ได้ทำหน้าที่สำคัญในการให้ข้อเสนอแนะและการเสนอแนวคิดในเรื่องการพัฒนาประเทศ แนวทางการปรับปรุงสถาบันทางการเมืองการปกครอง รวมทั้งการปรับปรุงองค์การทางการเมืองและระบบราชการ ด้วยการเสนอตัวแบบ แนวคิดและทฤษฎีใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และได้รับการยอมรับอย่างสูงในสังคมไทย แม้ในปัจจุบัน รัฐศาสตร์ในสังคมไทยจะมีลักษณะอ่อนแรงทางวิชาการ เนื่องจากบทความ หนังสือวารสารทางวิชาการกลับลดลงทั้งที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม (ธเนศร์ เจริญเมือง 2545, 29)
รัฐศาสตร์ไทยในบริบทความโดดเด่นเชิงวิชาชีพเช่นที่ผ่านมา ก็ยังคงความสำคัญอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน ความข้อนี้พิจารณาจากทั้งเนื้อหาการเรียนการสอน และตัวบัณฑิตเองที่ต่างประสงค์จะนำคุณวุฒิไปประกอบวิชาชีพข้าราชการตามความต้องการของแต่ละส่วนราชการอยู่จำนวนไม่น้อย แม้จะปรากฎว่าความสามารถในการรับข้าราชการของแต่ละหน่วยงานถูกจำกัดไว้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและมาตรการควบคุมกำลังคนภาครัฐของรัฐบาล โดยที่จำนวนนักศึกษาซึ่งเลือกเรียนสาขานี้มิได้ลดลงไปแต่ประการใด โดยเฉพาะนักศึกษารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ดูนับวันแต่จะเพิ่มจำนวนและมีแนวโน้มมากขึ้นในแต่ละปี ทั้งในการศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในเชิงการประกอบวิชาชีพ คำตอบต่อสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วน่าจะอยู่ที่การยอมรับและการเปิดกว้างด้านคุณสมบัติสำหรับตำแหน่งงาน ของบรรดาบริษัทห้างร้านภาคเอกชนต่อบัณฑิตที่จบในสายรัฐศาสตร์
ในแง่การพัฒนาองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของไทย กล่าวได้ว่า รัฐศาสตร์นับแต่ยุคหลังสงครามโลกเป็นต้นมา มีทิศทางเป็นไปในทิศทางของรัฐศาสตร์โลก โดยเป็นไปภายใต้อิทธิพลของวิชาการในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะรัฐศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ 2547, 1) กระทั่งกล่าวกันว่า สหรัฐอเมริกา นับเป็นต้นกำเนิดของวิชาการความรู้ทางรัฐศาสตร์สมัยใหม่ เหตุที่กล่าวเช่นนี้อาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนทางรัฐศาสตร์หรือแม้แต่ครูบาอาจารย์ที่ทำการสอนรัฐศาสตร์ในสังคมไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลผลิตหรือผ่านการศึกษาวิชาการความรู้ทางรัฐศาสตร์มาจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐศาสตร์ไทยจึงกลายเป็นองค์ความรู้ที่มีเงาของวิชาการรัฐศาสตร์อเมริกันแฝงอยู่อย่างมากทีเดียว แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ภายใต้สภาพการณ์ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัตน์และวิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแห่งยุคข้อมูลข่าวสาร (Information Technology) รัฐศาสตร์อเมริกันในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมากลับก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่รัฐศาสตร์รวมไปถึง รัฐประศาสนศาสตร์ไทยหลับประสบปัญหาชะงักงัน กลายเป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้างจำกัดขาดการเจาะลึกในมิติใหม่ ๆ วิชาการทางรัฐศาสตร์จึงดูจะคงรูปแต่การลอกตามตำราตะวันตกเล่มเดิม ๆ ขาดการพัฒนาทางวิชาการเฉกเช่นในสังคมที่เจริญแล้ว เปรียบเป็นดั่งต้นไม้ที่แคระแกร็นจากการเจริญเติบโต ขาดการพัฒนาที่เหมาะสม อันนำไปสู่ความล้าหลังทางวิชาการอย่างน่าเสียใจยิ่ง
โกวิทย์ กังสนันท์ (2543, 2-3) ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่ประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย หรือในประเทศที่พัฒนาล้าหลังบางประเทศ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านวิชาการมากนักนั้น มีสาเหตุในหลายประการได้แก่ ประการแรก ผู้มีอำนาจมักกำหนดนโยบายสังคมที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเพื่อความอยู่รอดเฉพาะหน้า ประการที่สอง สถาบันวิชาการยังขาดขีดความสามารถและความเข้มแข็งเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าการลงทุนทางวิชาการจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในระยะยาว ประการที่สาม วัฒนธรรมของสังคมไทยเองที่ยังไม่ค่อยยอมรับวิชาการอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการคิดว่าวิชาการเป็นบันได้ไต่เต้าไปสู่อาชีพและฐานะทางสังคม และประการสุดท้าย วิทยาศาสตร์หรือวิชาการมีค่าตัวแพง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง หรือมิเช่นนั้นก็ต้องใช้แรงงานคุณภาพที่มีค่าตอบแทนสูง สาเหตุทั้ง 4 ประการที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้วิชาการทางด้ารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในสังคมไทยขาดความก้าวหน้าทั้งในแง่ การจัดระเบียบ สถาบันวิชาการ มาตรฐานและบรรทัดฐานทางวิชาการ ความกระตือรือร้นของนักวิชาการและชุมชนวิชาการ ตลอดจนกิจกรรมหลักทางวิชาการซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเรียนการสอน การิวิจัย และการบริการสังคม ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อสาธารณะหรือสงคมโดยส่วนรวม
เราจึงเห็นว่า วิชาการรัฐศาสตร์ไทยในยุคใหม่จึงยังคงมีกิ่งก้านสาขาในจำนวน 6 สาขาเท่าเดิมคือประกอบไปด้วย (พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว 2543, 2; ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ 2547, 1-2)
1. ปรัชญาการเมืองและความคิดทางการเมือง (Political Philosophy and Political Thought)
2. การเมืองภายในประเทศ (Internal Politics)
3. การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics)
4. กฎหมายมหาชนและนโยบายสาธารณะ (Public Law and Public Policies)
5. รัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจ (Public Administration)
6. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Politics)
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ทัศนะว่า ไม่นานมานี้ นักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง (ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ผู้เรียบเรียง) ได้เสนอปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของวิชารัฐศาสตร์ไทย ในรอบ 50 กว่าปีที่ผ่านมา คำถามก็คือวิชารัฐศาสตร์ ทำอะไรให้กับสังคมไทย นอกจากนี้แล้ว ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาการเมืองแห่งความรู้ และความรู้ทางการเมือง ที่ถูกผลิตขึ้นว่า จะสอดคล้องหรือไม่อย่างไรกับสังคมไทย นี่เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับการศึกษาทางรัฐศาสตร์ไทย โดยทั่วไป และยังรวมความถึงการศึกษาทางรัฐศาสตร์ในสถาบันท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย เราจะเข้าใจได้ว่าอะไรคือการเมือง แห่งความรู้ในวิชารัฐศาสตร์ไทยได้ดี ถ้าเข้าใจพัฒนาการของวิชานี้
ในปัจจุบัน รัฐศาสตร์ได้ก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ของสังคมและการเมืองไทย อันได้ส่งผลให้รัฐศาสตร์เองมีแนวโน้มเปลี่ยนไปด้วยการถูกมองและตีความในความหมายที่เปลี่ยนไปจากการมองรัฐและการเมืองในฐานะการสร้างภาวะสถาบัน เพื่อความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ หรือความเป็นรัฐในความหมายเชิงผสมผสานทั้งเรื่องความมั่นคง การพัฒนาและการมีส่วนร่วมจากศูนย์กลางอำนาจ ไปสู่แนวคิดที่เน้นจากรัฐเลื่อนไหลลงสู่ประชาสังคมและพลเมืองกล่าวถึงบทบาททางการเมืองของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม ไม่ใช่แต่เพียงการเมืองของผู้นำ นักการเมืองในรัฐสภาเท่านั้น รัฐศาสตร์แนวใหม่จะมองไปที่พฤติกรรมการเมืองที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน การเมืองบนท้องถนน และการประท้วงต่อสู้ของผู้เสียโอกาส กลุ่มนอกระบบราชการ กลุ่มนักธุรกิจ สมาคมการค้า รวมไปถึงเอ็นจีโอ สมัชชาคนจน ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน การก่อความรุนแรงและการก่อการร้าย เป็นต้น นักศึกษารัฐศาสตร์ จึงต้องมีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการได้แก่ การมีจิตสำนึกแห่งการวิเคราะห์ (analytical mind) ที่สามารถเรียนรู้ เข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจสังคมและการเมือง ปัญหาดังกล่าวนับวันจะมีความสลับซับซ้อน และเกี่ยวพันกับชีวิตของเรา จนแยกจากกันไม่ออกความสามารถในการวิเคราะห์อาจจะเกิดขึ้นโดนธรรมชาติ ในคนบางคน ซึ่งเป็นพรสวรรค์แต่สำหรับคนส่วนมาก มักเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นไม่ได้ ด้วยการฝึกฝนการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง จนเป็นนิสัย ดังนั้นในการศึกษารัฐศาสตร์ เราควรจะเน้นให้นักศึกษาได้ผ่านกระบวนการฝึกฝน การใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์ปัญหาการเมือง การปกครองและการบริหารของไทย เพื่อให้นักศึกษาเกิดนิสัยการสร้างแนวความคิด (conceptualization) ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ของการวิเคราะห์ปัญหาในขั้นต่อไป การสร้างแนวความคิด จะอาศัยทักษะแห่งการคิด การตั้งคำถาม การใช้ทฤษฎีการแสวงหาคำตอบ ด้วยข้อมูลและตรรกะเหตุผล ที่สอดคล้องต้องกัน รวมทั้งการวิเคราะห์หาจุดดีและข้ออ่อนของการสร้างแนวคิดของตัวเอง
ตลอดช่วงเวลาประมาณ 50 ปีที่รัฐศาสตร์พัฒนาการมาในสังคมไทย องค์ความรู้ของวิชารัฐศาสตร์ไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ดังจะเห็นจากการเติบโตของรัฐศาสตร์ที่ขยายไปสู่ระดับภูมิภาคในฐานะผู้ผสมผสาน บูรณาการ และผลิตซ้ำองค์ความรู้ทางวิชาการรัฐศาสตร์ถ่ายทอดสู่สังคมในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในปริมณฑลและในส่วนภูมิภาคอย่างสอดคล้องกับความเป็นไป และภูมิปัญญาแห่งท้องถิ่น แทนที่จะเน้นการเป็นวิชาที่สอนคนให้เป็นเจ้าคนนายคนแบบเก่า รัฐศาสตร์ในภาพนี้จึงแปลงสภาพกลายเป็นคงวามรู้ที่ต้องประยุกต์ให้เข้ากับสภาพท้องถิ่นให้มากขึ้น พร้อม ๆ กันนั้น ก็ต้องมีเนื้อหาสาระบางอย่างที่คงความเป็นวิชาการรัฐศาสตร์เอาไว้ด้วย ดังนั้น ไม่ว่ารัฐศาสตร์ที่ภาคใต้ รัฐศาสตร์ภาคเหนือ รัฐศาสตร์ภาคอีสาน รัฐศาสตร์ภาคกลาง และกรุงเทพ ก็ย่อมมีลักษณะเนื้อหาบางอย่างที่ต่างกัน มีความหมายหลากหลายอย่างที่ต่างกัน แต่ความเป็นวิชาการรัฐศาสตร์ร่วมกันก็ควรจะต้องมีด้วย อย่างไรก็ตาม การคงไว้ซึ่งองค์ความรู้ร่วมกันในทางรัฐศาสตร์ (collective knowledge) นี้ ก็มิควรเป็นเรื่องของโครงสร้างอำนาจ หรือเทคนิคแห่งการใช้อำนาจ แต่ควรเป็นการสร้างอัตลักษณ์ (identity) ของวิชาการรัฐศาสตร์ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลาย และการรู้จักเลือกใช้ความรู้อย่างวิพากษ์ด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-2-31538.html

รัฐศาสตร์ยุคใหม่ในสังคมตะวันตก


รัฐศาสตร์ยุคใหม่ในสังคมตะวันตก
รัฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นองค์ความรู้ ได้ก่อตัวขึ้นและเปลี่ยนแปลงคู่ขนานไปกับการเกิดและพัฒนาการของรัฐในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ดังจะเป็นได้จากแนวทางการศึกษาวิเคราะห์และขอบข่ายการศึกษารัฐศาสตร์ที่หลากหลายได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาอย่างกว้างขวางในช่วงระยะนี้
การศึกษารัฐศาสตร์โดยทั่วไป จะกล่าวถึงเรื่องรัฐและกิจกรรมด้วนต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ (Peter T. Minicas 1987, 24-25) หรือเป็นการศึกษาที่มุ่งตอบสนองความต้องการด้านใดด้านหนึ่งของรัฐเป็นหลักอันได้แก่ การจัดการเรื่องกำลังคน หรือการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองในบางประเทศ เป็นต้น และด้วยเหตุที่สาระสำคัญของการศึกษารัฐศาสตร์กล่าวถึงหรือรับใช้ไม่ว่าด้านใดของรัฐ รัฐในแทบทุกสังคมจึงมักจะมีบทบาทหรือเข้ามามีอิทธิพลกำหนดกรอบทิศทางการศึกษารัฐศาสตร์มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการศึกษาวิจัยในสาขารัฐศาสตร์ของสถาบันการศึกษาระดับสูง มักกล่าวถึงเรื่องโครงสร้างอำนาจและระบอบการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของรัฐ (อนุสรณ์ ลิ่มมณี 2541, 10) นอกเหนือไปจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษารัฐศาสตร์ในอีกด้านหนึ่ง และอิทธิพลของรัฐซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหลักดังที่ได้กล่าวไปแล้วกระทั่งกล่าวได้ว่า สิ่งที่กำหนดกรอบทิศทางการศึกษารัฐศาสตร์ของแต่ละประเทศนั้น แท้จริงคืออิทธิพลของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ในระดับที่เข้มข้นไม่ต่างไปจากรูปแบบของการศึกษาหลักที่ครอบงำวงวิชาการรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศและปัจจัยภายนอกด้านอื่น อันได้แก่การเปลี่ยนแปลงในศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ (ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อรูปแบบการศึกษารัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการศึกษา ระเบียบวิธีหรือประเด็นสำคัญในการศึกษา) สักเท่าใดนัก ซึ่งแม้ว่าบทบาทหนึ่งในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงการศึกษารัฐศาสตร์จะเป็นของสถาบันการศึกษาหรือเป็นเรื่องที่คณะหรือภาควิชา ที่เป็นกลไกหลักในการเรียนการสอน จะว่ากันไปเอง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธบทบาทของรัฐดังกล่าวได้ โดยเฉพาะที่จะเห็นได้ชัดในยุคที่ประเทศหรือระบบการเมืองเป็นแบบเผด็จการอำนาจนิยม
ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือได้ว่าเป็นแม่แบบของการศึกษารัฐศาสตร์เชิงองค์ความรู้ ได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา รัฐศาสตร์ยุคใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในสหรัฐอเมริกานั้น กล่าวได้ว่ามีการพัฒนาตัวเองมาเป็นองค์ความรู้ที่แยกตัวเป็นอิสระจากสังคมศาสตร์สาขาอื่น หลังจากที่รัฐศาสตร์สมัยใหม่ได้ก่อตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในวงวิชาการอเมริกันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการก่อตั้งสำนักการศึกษารัฐศาสตร์ (School of Political Science) ขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี ค.ศ. 1880 และได้ขยายตัวไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ และมีการรวมกันในหมู่ของนักวิชาการและผู้สนใจจัดตั้งสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (The American Political Science Association) (อนุสรณ์ ลิ่มมณี 2541, 5)
การพัฒนาองค์ความรู้ของรัฐศาสตร์ภายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในด้านทฤษฎีและระเบียบวิธีการศึกษารัฐศาสตร์ นับว่าเป็นไปอย่างก้าวหน้าและจริงจังในประเทศแถบยุโรปตะวันตก จำเพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนมีลักษณะเฉพาะตัว แตกต่างไปจากบางประเทศเช่นฝรั่งเศสในช่วงเวลาเดียวกัน แต่กระนั้นการพัฒนาของรัฐศาสตร์ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปบ้าง มิได้ทัดเทียมกันไปทั้งหมด
แม้ว่ารัฐศาสตร์จะเจริญเติบโตมากในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศส ก็ยังไม่ได้มีฐานะที่โดดเด่นไปกว่าการเป็นหน่วยหนึ่งของการศึกษาวิชานิติศาสตร์ ที่ขึ้นชื่อมากของการศึกษาในประเทศดังกล่าว และมีฐานะเป็นเพียงกลุ่มวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น ความประการนี้ย่อมพิจารณาได้จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของบรรดานักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ต่อการศึกษาเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองและสังคมเอง อย่างไรก็ดี ในภาพรวมนั้น รัฐศาสตร์ในฝรั่งเศสได้ทำหน้าที่ประการสำคัญในการฝึกอบรมให้ความรู้แก่นักการเมืองและข้าราชการในสถาบันที่มีชื่อว่า “Ecole Nationald’ Administration” เสียมากกว่า
ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น รัฐศาสตร์ได้เติบโตขึ้ขโดยบทบาทสำคัญขององค์การระหว่างประเทศองค์การหนึ่งที่พึงกล่าวถึง คือ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNESCO นับแต่คราวที่ อีเบนสไตน์ (W.Ebenstein) ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปริ๊นซ์ตัน ได้เข้ามาทำหน้าที่ประจำในตำแหน่งผู้อำนวยการที่องค์การดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1948 ซึ่งถือเป็นการจุดประกายการศึกษารัฐศาสตร์อย่างจริงจังในช่วงนั้น การดำเนินการดังที่กล่าวไปนี้ได้เริ่มต้นในรูปของโครงการระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญอันประกอบด้วยนักปรัชญา นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ผู้สอนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อจำแนกแยกแยะคุณลักษณะสำคัญของรัฐศาสตร์ใน 3 ประการหลัก ประกอบด้วย (1) เนื้อหา (content) (2) ระเบียบวิธี (methodology) และ (3) ความหมายของคำ (terminology) แล้วนำมาผลงานของนักวิชาการต่างๆ เหล่านี้มาตีพิมพ์รวมเล่มเผยแพร่ในปีค.ศ. 1950 (รายละเอียดศึกษาได้ใน ไพโรจน์ ชัยนาม เรื่อง สถาบันการเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ: ภาค 1 ความนำทั่วไปตีพิมพ์ปี 2524 หน้า 29-30)
ผลการรวบรวมความคิดเห็นของนักวิชาการจากหลากหลายสาขาต่อเนื้อหาระเบียบวิธีและการให้ความหมายของรัฐศาสตร์โดยบทบาทนำขององค์การ UNESCO ดังกล่าวข้างต้น ได้ก่อรูปเป็นบัญชีรายการอันแสดงถีงขอบข่ายและเนื้อหาองค์ประกอบของการศึกษารัฐศาสตร์ ซึ่งหากผู้ศึกษาพิจารณาเปรียบเทียบกับขอบข่ายหรือขอบเขตของการศึกษารับศาสคร์ในชว่งเวลาเดียวกันดังปรากฎในของเอกสารบรรยายฉบับนี้ เราก็อาจอนุมานได้ประการหนึ่งว่าบทบาทประการนี้ขององค์การ UNESCO นับว่าได้รับการยอมรับอยู่ไม่น้อย (แม้อาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากตัวผู้นำองค์การคือ ดร.อีเบนสไตน์เอง) และเป็นส่วนสำคัญไม่น้อยต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของสาขาวิชารัฐศาสตร์ ในยุคใหม่ขึ้น บัญชีรายการได้แสดงถึงขอบข่ายของการศึกษารัฐศาสตร์ไว้ดังนี้
1. ทฤษฎีการเมือง
1.1 ทฤษฎีทางการเมือง
1.2 ประวัติความคิดทางการเมือง
2. สถาบันการเมือง
2.1 รัฐธรรมนูญ
2.2 รัฐบาลกลาง
2.3 รัฐบาลหรือการปกครองเขต แขวงและท้องถิ่น
2.4 ราชการบริหาร
2.5 ภารกิจหน้าที่ทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล
2.6 สถาบันการเมืองเปรียบเทียบ
3. พรรคการเมือง กลุ่มและมติมหาชน
3.1 พรรคการเมือง
3.2 กลุ่มและสมาคม
3.3 การเข้าเกี่ยวข้องของพลเมืองในการปกครอง (รัฐบาล) และในราชการบริหาร
3.4 มติมหาชน
4. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
4.1 นโยบายระหว่างประเทศ
4.2 องค์การและการบริหารระหว่างประเทศ
4.3 กฎหมายระหว่างประเทศ
แม้ว่ารัฐศาสตร์ตะวันตกจะดูเติบโตขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และด้านนิติศาสตร์ ถึงความเป็นเอกลักษณ์แยกออกมาอย่างชัดเจนและเป็นอิสระ (autonomy) ขององความรู้ด้านรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นวิทยาการ (discipline) ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับระบบของรัฐบาลและองค์การทางการเมืองอยู่ไม่น้อย นักวิชาการบางท่านได้แก่ ยอร์ช บรูโด ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “Methode de la Science Politique (1959)” ว่ารัฐศาสตร์เป็นระเบียบวิธีอย่างหนึ่งที่ทำให้การศึกษารัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างได้ผลและเป็นการยืนย้ำความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญกับรัฐศาสตร์ไว้ และช่วยทำให้รัฐศาสตร์ได้รับความคุ้มครองป้องกันที่จำเป็นต่อการถูกดึงให้ออกนอกลู่นอกทาง (ไพโรจน์ ชัยนาม 2524, 40-43) ทัศนะของบรูโด ดังกล่าวย่อมเห็นได้อย่างแจ้งชัดว่ามีฐานะเป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันแนบแน่นอยู่กับนิติศาสตร์ โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่ไม่น้อยเลยที่เดียว แต่ในภายหลังช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 โบริส มีรกีน-เกตเซวิช เป็นตัวอย่างของนักวิชาการท่านหนึ่งที่ได้กล่าวถึงความเป็นเอกลักษณะของการศึกษารัฐศาสตร์อย่างน่าสนใจ ปรากฎในหนังสือชื่อ รัฐธรรมนูญในยุโรป (1951)” โดยกล่าวไว้ว่า แม้รัฐศาสตร์มีวัตถุประสงค์ที่ยืมเอามาจากนิติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์ แต่สิ่งที่แตกต่างไปอันเป็นสาระสำคัญของรัฐศาสตร์โดยเฉพาะก็คือ ระเบียบวิธีการศึกษา (method) ของรัฐศาสตร์ที่มุ่งศึกษาถึงความหมายทางการเมืองของสถาบันทางสังคม ตลอดจนการค้นหาผลที่เกิดขึ้นจากกฎหมายของสถาบันหรือระบอบการปกครองอันใดอันหนึ่ง ด้านการวิเคราะห์ไปยังเหตุ (causes) มากกว่าที่มุ่งศึกษาความโน้มเอียง (tendency) ของเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ นักรัฐศาสตร์บางท่านได้แก่ แอยเซนมานน์ แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีส 1 รวมทั้งนักวิชาการอีกหลายท่านในกลุ่ม “ Political Scientist” หรือเรียกว่า นักรัฐศาสตร์ได้โต้แย้งแนวคิดว่าด้วยการที่รัฐศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของนิติศาสตร์ ไว้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐศาสตร์นั้น เป็นวิทยาการที่มีสภาพแตกต่างกันโดยไม่ขึ้นแก่กันหรือรัฐศาสตร์มิได้ขึ้นแก่วิทยาการใดมาไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษแล้วในประเทศทางตะวันตก และกล่าวว่าแม้รัฐธรรมนูญจะมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่ใกล้เคียงกันกับการศึกษาเรื่องรัฐบาล ระบอบหรือองค์การทางการเมืองของรัฐ แต่ก็เป็นเพียงความใกล้เคียงกันโดนผิวเผินเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นการแตกต่างกันที่สาระสำคัญอยู่นั่นเอง (ดูรายละเอียดใน ไพโรจน์ ชัยนาม 2524, 21-23)
รัฐศาสตร์ในโลกตะวันตก ได้พัฒนาก้าวหน้าแยกออกมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญหรือจากร่วมเงาของสาขานิติศาสตร์มาอย่างมั่นคง เป็นเอกลักษณ์โดยลำดับกระทั่งเข้าสู่ยุคใหม่ หากพิจารณาในแง่ของสาขาวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่เดิมสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่ม สาขาวิชาใหญ่ ๆ ซึ่งประกอบด้วย 1) Political Philosophy and Political Thought 2) Internal Politics 3) Comparative Politics 4) Public Law and Public Policies 5) Public Administration และ6) International Relations ไปเป็น 10 สาขาวิชาหลัก ผ่านการจัดหมวดหมู่วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่าง ดังนี้
1. American Government
2. Biopolitics
3. Comparative Politics
4. Criminal Justice
5. International Relations
6. Methodology
7. Political Theory
8. Public Administration
9. Public Law
10. Public Policies
และหากพิจารณาจากการกำหนดกลุ่มวิชาการในการประชุมสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association-APSA) จะยิ่งปรากฎความหลากหลายของแขนงวิชาการความรู้ทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์มากขึ้นเป็น 46 กลุ่มวิชาการดังนี้ (ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ 2547, 4-5)
1. Political Thought and Philosophy : Historical Approach
2. Foundation of Political theory
3. Normative Political theory
4. Formal Political Theory
5. Political Psychology
6. Political Economy
7. Political and History
8. Political Methodology
9. Teaching and Learning in Political Science
10. Undergraduate Education
11. Comparative Politics
12. Comparative Politics of Developing Countries
13. Politics of Communist and Former Communist Countries
14. Comparative Politics of Advanced Industrial Societies
15. European Politics and Society
16. International Political Economy
17. International Collaboration
18. International Security
19. International Security and Arm Control
20. Foreign Policy
21. Conflict Processes
22. Legislative Study
23. Presidency Research
24. Public Administration
25. Public policy
26. Law and Courts
27. Constitutional Law and Jurisprudence
28. Federalism and Intergovernmental relations
29. State Politics and Policy
30. Urban Politics
31. Women and Politics
32. Race, Ethnicity and Politics
33. Religion and Politics
34. Representation and Electoral System
35. Political Organization and Parties
36. Election and Voting Behavior
37. Public Opinion and Political Participation
38. Political Communication
39. Science, Technology and Environmental Politics
40. Information Technology and Politics
41. Politics and Literature
42. New Political Science
43. Ecological and Transformational Politics
44. International History and Politics
45. Comparative Democratization
46. Human Rights
มองในแง่พัฒนาการและทิศทางความเป็นไปของรัฐศาสตร์ในสังคมตะวันตก ธเนศวร์ เจริญเมือง (2545, 20-22 ) ได้กล่าวว่า ในห้วงเวลากว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา สังคมตะวันตกส่วนใหญ่มีระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ระบบการปกครองมีลักษณะที่กระจายอำนาจสู่ การปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (Liberal Economy) โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเหล่านี้มีนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์และคัดค้านระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) ซึ่งผลของบริบททางสังคมดังกล่าว ได้ทำให้วิชารัฐศาสตร์ในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่มีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 7 ประการ
ประการแรก การเรียนการสอนรัฐศาสตร์ โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นความเข้มข้นทางวิชาการ กล่าวคือ มีทั้งการฟังคำบรรยาย การอภิปรายและเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียน การอ่านหนังสือประกอบจำนวนมาก และการเขียนรายงานที่เกิดจากการค้นคว้าเอกสารค่อนข้างดี มีวารสารทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐศาสตร์จำนวนมากและสม่ำเสมอ
ประการที่สอง การเรียนการสอน มีลักษณะเปิดกว้าง มีเนื้อหาวิชาครอบคลุมระบบการเมืองต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง มีสถาบันการศึกษาจำนวนมากและส่วนใหญ่มีแนวทางการศึกษาที่หลากกลาย เนื่องจากระบบการเมืองเป็นแบบเปิด
ประการที่สาม การศึกษษให้ความสำคัญต่อระบอบบประชาธิปไตยมากกว่าระบบการเมืองแบบอื่น หรือนิยมชมชอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากกว่าระบอบการเมืองอื่น ๆ
ประการที่สี่ มีวิชาและการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นจำนวนมาก เช่น การเมืองในเขตที่สถาบันการศึกษานั้นตั้งอยู่ การเมืองในระดับมลรัฐ เป็นต้น
ประการที่ห้า มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบเศรษฐกิจเสรั โดนเฉพาะลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ โดยพาะในช่วงแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายสังคมนิยมในระหว่างทศวรรษที่ 2510-2520 นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวคิดใหม่ ๆ หลายอย่างเกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนาเช่น เสนอว่าทิศทางการพัฒนาสังคม ในที่สุดก็จุพัฒนาเช้าสู่ระบอบประชาธิปไตยตามทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernization Theory) เป็นต้น ซึ่งแนวความคิดเหล่านี้ มีบทบาทอย่างสูงต่อวงการศึกษารัฐศาสตร์ของประเทศกำลังพัฒนา
ประการที่หก การศึกษารัฐศาสตร์เน้นไปที่การศึกษาเพื่อแก้ไชปัญหาในระบบการเมือง มิใช่การแสวงหาระบบใหม่ เนื่องจากแต่ละประเทศต่างมีพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่องยาวราน เนื้อหาของการศึกษาจึงมีลักษณะเฉพาะส่วนเพื่อแก้ไขปรับปรุงส่วนเหล่านี้ เชน การศึกษานโยบายสาธารณะ สถาบันทางการเมือง และพฤติกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการลงคะแนนเวียงและทัศนคติของประชาชน เป็นต้น
ประการที่เจ็ด ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแข็งขัน มีกลุ่มรณรงค์ของประชาชนจำนวนมาก ประชาชนมค่วามรู้พืนฐานในเรื่องการเมืองค่อนข้างดีทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ดี รัฐศาสตร์ในประเทศตะวันตกกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจในฐายะวิชาที่มีนักศึกษาเลือกเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เนื่องจากหน่วยงานที่ต้องการนักศึกษารัฐศาสตร์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นั้นเอง ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย รัฐศาสตร์จะได้รับการยอรับในวงวิชีพมากกว่าความเป็นวิชาการ ดังที่จะได้ศึกษาต่อไปเรื่องพัฒนาการ รัฐศาสตร์ในสังคมไทย
ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ (2547,9 -11) ได้เสนอทัศนะโดยชี้ให้เห็นทิศทางใหม่ของรัฐศาสตร์ไว้ว่า ในช่วงจุดเปลี่ยนของศตวรรษ วิชารัฐศาสตร์ได้ก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ที่เรียกว่า รัฐศาสตร์ใหม่” (The New Political Science) ซึ่งแม้รัฐศาสตร์จะยังไม่ก้าวย่างเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ถึงขั้นการปฏิวัติทางศาสตร์ (Science Revolution) อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตในรูปแบบทางวิชาการของีรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายประการดังนี้
ประการแรก เน้นการศึกษาเชิงประจักษ์ และมุ่งเน้นสหวิทยาการ
รัฐศาสตร์ใหม่ได้ให้ความสนใจในการศึกษาเชิงประจักษ์ (empiricism) เป็นการสานต่อการศึกษารัฐศาสตร์แบบพฤติกรรมศาสตร์ และประจักษ์นิยมในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเน้นการศึกษาที่สามารถตรวจสอบปรากฎการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างแน่นอน โดยใช้เทคนิคสมัยใหม่ที่พัฒนาการจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านอิเลคทรอนิคส์ เทคโนโลยีข่าวสาร และคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถศึกษาข้อมูลได้อย่างกว้างขวางหลากหลายรูปแบบได้มากกว่าในอดีต ทั้งในทางเทคนิคด้านประมาณและเทคนิคด้านคุณภาพ สำหรับด้านการศึกษาคุณภาพ ได้มีการพัฒนาวิธีการและการประดิษฐ์ซอพท์แวร์มาใช้ในการศึกษาอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้ซอพท์แวร์วิเคราะห์ข้อเขียน คำพูด รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ตำราและเทคนิคการศึกษาที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัว อันเป็นการขยายขอบเขตการศึกษารัฐศาสตร์เชิงประจักษ์ให้รวดเร็วและหยั่งรากลึกลงไปในรายละเอียดได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ วิชารัฐศาสตร์ยังมีแนวโน้มที่จะรับเอาระเบียบวิธี (Methodology) ของศาสตร์แขนงอื่น ๆ มาใช้ประโยชน์ในการศึกษาและอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น เอกลักษณ์ของวิชารัฐศาสตร์จึงไม่ใช่ศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองทั้งในด้านขอบเขตเนื้อหาและระเบียบวิธีการ แต่เป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเปิดกว้าง เน้นสหวิทยาการหรือการผสมผสานกับศาสตร์แขนงอื่นในลักษณะข้ามสาขา
ประการที่สอง เน้นการศึกษาสถาบันและกลุ่มย่อยที่หลากหลาย
ในทศวรรษใหม่นี้ การศึกษารัฐศาสตร์ไม่เพียงแต่ให้ความสนใจด้านการศึกษาสถาบันหลักทางการเมืองการปกครอง เช่น สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และกระบวนการที่สำคัญ เช่น กระบวนการเลือกตั้ง เป็นต้น เท่านั้น หากแต่ยังให้ความสำคัญแก่สถาบันและกระบวนการที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีหลากหลายจากการที่อำนาจได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและมีการกระจายอำนาจลงสู่รากฐานของสังคม
การที่อำนาจของรัฐส่วนกลางได้เปลี่ยนไปหรือลดน้อยลง และอำนาจของกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ๆ ในสังคมมีความกล้าแข็งขึ้น กลายเป็นประชาคมการเมืองกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และมีความเข้มแข็งตลอดจนบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้นตามลำดับ กระทั่งรัฐศาสตร์ใหม่ไม่อาจละเลยที่จะให้ความสนใจต่อการกำเนิด พัฒนาการ ความเข้มแข็ง และบทบาทของสถาบันการเมืองทั้งหลายเหล่าหนี้ได้ ในกรณีของประเทศไทย สถาบันที่เป็นองค์กรเกิดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสมนุษยชนและสิทธิชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาคมท้องถิ่น เป็นต้น ได้ก่อตัวขึ้นอย่างหลากหลาย มีพัฒนาการเข้มแข็งและมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ซึ่งควรเป็นประเด็นสำคัญต่อการศึกษาทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในมิติและบริบทใหม่ของประเทศไทย
ประการที่สาม ความสนใจในปัญหาที่เชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่น
การศึกษารัฐศาสตร์แนวใหม่ โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการศึกษาสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับศาสตร์สาขาอื่น อาทิ ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทมต่อการเมืองภายในประเทศและระบบการเมืองระหว่างประเทศ อิทธิพลของสถาบันระหว่างประเทศที่สำคัญได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (WORLD BANK) องค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดทั้งอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจเสรีได้แก่ การเปิดเสรีทางการเงิน เสรีทางการค้า และเสรีทางการลงทุน ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยได้กลายมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจศึกษามากขึ้น ในขณะเดียวกับที่การให้ความสนใจกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ก็ยังคงเป็นเรื่องที่นักรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ความสนใจอยู่ต่อไป
ประการที่สี่ เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
การศึกษารัฐศาสตร์ใหม่ มุ่งเน้นในรายละเอียดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงได้จริง โดยผ่านขั้นตอนของการประยุกต์แต่เพียงเล็กน้อย นั่นคือ ผลของการศึกษาทางรัฐศาสตร์ใหม่ที่เน้นองค์ความรู้ที่หลากหลาย ได้แผ่กิ่งก้านสาขาเข้าไปในทุกองคาพยพทางการเมืองการปกครองและการบริหาร ซึ่งเป็นการขยายความเข้มแข็งขององค์ความรู้เชิงประจักษ์เดิมให้มีความละเอียดยิ่งขึ้น และสามารถให้การอธิบายและทำนายปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในสภาพการณ์ปัจจุบันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ประการที่ห้า เน้นความเป็นศาสตร์และคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม
รัฐศาสตร์ยังคงเน้นความสำคัญของความเป็นศาสตร์ทางวิชาการที่บรรดานักรัฐศาสตร์ต่างพยายามที่จะยกสถานะ ศักดิ์ศรี และเกียรติยศให้ทัดเทียมกับศาสตร์สาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสังคมศาสตร์ด้วยกัน ภารกิจของสาขาวิชารัฐศาสตร์คือการสร้างแนวความคิดและภูมิปัญญาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงและมีคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม การนำเสนอวิธีกานในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สังคมและพลเมืองมีชีวิตที่ดีขึ้นไายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ นอกจากนั้น รัฐศาสตร์ยังเป็นสื่อกลางสำหรับศาสตร์สาอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยกระบวนการในการผลักดันให้เกิดผลของการศึกษาวิจัย ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม


ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก  http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-2-31538.html