ประวัติความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์
รัฐศาสตร์นั้น
กล่าวได้ว่ามีการพัฒนาก้าวหน้ามาจนเป็นวิชาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเองโดยเฉพาะ
การกล่าวเช่นนี้ย่อมหมายถึงวิชารัฐศาสตร์ได้ผ่านขั้นตอนของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
ที่สืบสาวกลับไปถึงสมัยกรีกโบราณเมื่อประมาณ 300-500 ปี
ก่อนคริสต์ศักราช
สมัยกรีกโบราณ
(ancient Greek) ที่ถือเป็นแหล่งสืบค้นเรื่องราวการศึกษาเกี่ยวกับการเมืองและรัฐดังกล่าว
เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดนักปราชญ์ทางด้านการเมืองเรียกว่า
นักปรัชญาการเมืองที่สำคัญของโลก ได้แก่ เพลโต (Plato , 427-347 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของวิชาทฤษฎีการเมืองและอริสโตเติล (Aristotle,384-322
ปีก่อนคริสต์ศักราช) ผู้ถือว่าเป็นบิดาของวิชารัฐศาสตร์ตะวันตก
แนวความคิดที่สำคัญของนักปรัชญาการเมืองกรักโบราณทั้งเพลโตและอริสโตเติลนั้น
มุ่งพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างมนุษย์กับรัฐในแง่คิดปรัชญาการเมือง(political
philosophy) ด้วยการมองปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น การแสวงหาความยุติธรรม
และรูปแบบของการปกครองที่ดี
โดยมีภารกิจหลักพื้นฐานหรือที่เรียกว่าเจตจำนงค์อันเป็นเป้าหมายทางการเมืองของรัฐและรัฐบาลคือการสร้างสรรชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในรัฐ
ผลงานตามแนวคิดของเพลโต้ปรากฏในงานเขียนอันโด่งดังเรื่อง
“อุตมรัฐ” หรือ “Republic”
ได้กล่าวถึงรูปเบบการปกครองตามอุดมคติที่จะต้องปกครองด้วยนักปราชญ์ผู้ทรงความรู้และคุณธรรมกล่าวคือ
เป็นผู้ที่มีความรู้สูงและรักษาความยุติธรรม หรือที่เพลโต้เรียกว่า “ราชาปราชญ์ (Philosopher King) อุตมรัฐนั้นเองจะเป็นเครื่องมือที่แก้ปัญหาต่าง
ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของมนุษย์และสถาบันทางการเมือง เ
พลโต้เชื่อว่ามนุษย์จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อร่วมกันทำคุณงามความดี
โดยหน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐก็คือการส่งเสริมให้มนุษย์มีคุณธรรมความดี (virtue)
และมีความสุข (happiness) และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่างรัฐจึงจำเป็นต้องมีกฏเกหมายและสถาบันทางการปกครอง
กฎหมายมีไว้เพื่อให้บุคคลประกอบความดีละเว้นความชั่ว
ส่วนสถาบันการปกครองนั้นมีไว้เพื่อเป็นส่วนส่งเสริมให้การใช้กฎหมายนั้นเป็นไปได้ รัฐในทัศนะของเพลโต้จึงเป้นผลที่สืบเนื่องมาจากความมาสมบูรณ์ของมนุษย์(imperfection
of human nature) (อานนท์ อาภาภิรม 2545, 5)
อริสโตเดิ้ล
ลูกศิษย์คนสำคัญที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเพลโต้
ผู้ได้ให้ฉายาวิชารัฐศาสตร์ว่าเป็นวิชาหรือ “ศาสตร์สถาปัตยสมบูรณ์ลักษณ์”
(Architectonic Science) นั้น
ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์แสวงหารูปแบบการปกครองที่เหมาะสม จากรัฐบาลต่าง ๆ
ที่ตนได้สังเกตการณ์ซึ่งแตกต่างกันไปตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละรัฐ
รวมทั้งได้สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้จากนักปราชญ์รายอื่นและที่สำคัญได้แก่
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มการาช ผู้เป็นลูกศิษย์เอก
แนวความคิดสำคัญเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของอริสโตเติ้ลปรากฎในหนังสือชื่อ
“การเมือง” หรือ “Politics”
โดยกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเป็นอำนาจสูงสุด (Ulitimate
Sovereign) มาควบคุมมนุษย์ เนื่องจากอริสโตเติ้ลเชื่อว่ามนุษย์ในสภาพธรรมชาติไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
และความต้องการของมนุษย์จะไม่อาบรรลุได้เลยอันหมายความว่าชีวิตมนุย์ไม่อาจสมบูรณ์ได้หากมิได้อยู่ในนครรัฐ
(อริสโตเติ้ลหมายถึงนครรัฐกรีก)
และระบบการเมืองและมนุษย์จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Aristotle. The
politics of Aristotle, ed.And trans. by Ernest Barker 1966 อ้างถึงในทินพันธ์
นาคะตะ 2541, 63-64) และกฎหมายหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อประกอบกับองค์การรัฐบาลแล้ว
จะยังผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเสมอภาคทั้งในด้านกฎหมายและศีลธรรม
ความคิดทางการเมืองในยุคสมัยกรักโบราณที่มุ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการเมืองและรูปเบบการเมืองการปกครองที่ดี
มีความยุติธรรมที่สุด เพื่อเอื้อให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีภายในนครรัฐ
ได้เป็นแก่นสารัตถะของปรัชญาความคิดทางการเมืองสมัยกรีกโบราณ
โดยเฉพาะจากผลงานของเพลโตและอริสโตเติ้ล ดังกล่าว
ได้กลายเป็นกรอบความคิดพื้นฐานของการเมือง อันเป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ (วิวัฒน์
เอี่ยมไพรวัน 2544, 9) สืบต่อเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน
และได้ส่งผลให้การศึกษาทางรัฐศาสตร์เติบโตขึ้นมาเป็นลำดับ
และท้าทายให้นักคิดนักปราชญ์ทางการเมืองในยุคต่อมา เกิดความสนใจศึกษาเรื่องราวต่าง
ๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และการเมืองที่แตกต่างมุมมองกันออกไป ตัวอย่างเช่น
นักปราชญ์กลุ่มสตอยอิกส์ (Stoic Philosophist) ในยุคโรมันตอนต้น
มีทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเพลโตและอริสโตเติ้ลที่ว่าชีวิตที่ดีของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ภายใต้นครรัฐ
ซึ่งเป็นการผูกเงื่อนไขในเรื่องความจำเป็นของการมีรัฐและรูปแบบของรัฐไว้กับการมีชีวิตที่ดีของมนุษย์ในรัฐ
ในขณะที่นักปราชญ์กลุ่มดังกล่าวเห็นว่า
ชีวิตที่ดีของมนุษย์นั้นแท้จริงก็คือความเป็นปัจเจกชนที่ไม่ต้องผูกพันธ์อยู่กับรัฐ
เนื่องเพราะรัฐและอำนาจการเมือง เป็นสิ่งที่มนุษย์
สูญเสียเสรีภาพที่มีมาพร้อมกับความเป็นปัจเจกบุคคล
รวมทั้งความเสมอภาคในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เป็นต้น
ในช่วงระหว่าง
200 ปี ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงช่วงราวศตวรรษที่ 4
หรือเรียกว่า ยุคโรมัน วิทยาการความรู้ไม่เพียงเฉพาะรัฐศาสตร์ในเชิงปรัชญา
และวิชาการทางสังคมศาสตร์อื่นถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นตกอยู่ในภาวะความชะงักงัน
ทั่งนี้ด้วยเพราะชาวโรมันไม่ใคร่จะใส่ใจแนวคิดเรื่องปรัชญาทางการเมืองสักเท่าใดนัก
แต่ให้ความสำคัญกับงานทางด้านสถาปัตยกรรมหรือเทคนิคการก่อสร้างและงานด้านการเกษตรกรรมเพาะปลูกพืช
ในช่วงนี้
องค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาจากยุคกรีกโบราณจึงไม่ได้รับการกล่าวถึงแต่อย่างใด
แต่กระนั้น
จักรวรรดิโรมันยังนับว่าได้สร้างคุณูปการอันเป็นมรดกแก่วิชารัฐศาสตร์สืบต่อมาได้แก่
หลักกฎหมายหรือหลักนิติศาสตร์ หลักการบริหารราชการหรือการบริหารรัฐกิจตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติ
และสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ (Natural Rights) ของซิเซโร (Cicero)
หลักการและแนวคิดเหล่านี้ จรูญ สุภาพ (2522, 3) อธิบายว่า มีรากฐานสำคัญมาจากปรัชญาสตอยอิค (stoicism) ซึ่งถือว่ามนุษย์ทั่งปวงมีความเสมอภาค ภราดรภาพและมีที่มาจากพระเจ้า
รวมทั้งการเคารพในคุณค่าของปัจเจกชน (individual) โดยไม่คำนึงถึงฐานทางสังคมของบุคคล
อันถือได้ว่าเป็นต้นธารปรัชญาและหลักการการปกครองแบบประชาธิปไตยตะวันตก
ในยุคกลางหรือยุคสมัยที่คริสตจักร
(the Church of Christ) เรืองอำนาจก่อนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
หรือที่เรียกกันว่า ยุคกลาง
อยู่ในช่วงนับจากยุคหลังจักรวรรดิโรมันถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยประมาณ
การศึกษาเรื่องรัฐมีความสำคัญลดลงจนเรียกว่ได้เป็นยุคมืดของการศึกษารัฐศาสตร์
เนื่องจากในยุคนี้อิทธิพลทางการปกครองถูกครอบงำโดยอำนาจของศาสนจักร (the
Mediaval Hegemony of the Church) หรือการมีอิทธิพลของศาสนจักรหรือผู้นำทางศาสนาในการสถาปนาและถอดถอนกษัตริย์ในยุคกลาง
และการเข้ามามีบทบาทบงการนฑโยบายของรัฐรวมถึงการวินิจฉัยข้อโต้แย้งทางการเมืองของศาสนจักรซึ่งเป็นผลมาจากการครอบงำทางความคิดเรื่องการได้มีซึ่งอำนาจการปกครองจากพระผู้เป็นเจ้าของศาสนจักร
ดังปรากฎแนวคิดของนักบุญหลายท่านเช่น “ The City of God” ของเซนต์ออกัสติน
(St.Augustine) ผลงานของเซนต์โธมัส อะไควนัส (Aquinas)
เป็นต้น กระทั่งทฤษฎีการเมือง (political theory) ได้กลายสภาพมาเป็นสาขาหนึ่งของศาสนศาสตร์ (Theology) อย่างไรก็ดี เบอร์นอล (J.D. Bernal 1971, 270)ได้ชี้ให้เห็นว่า
แม้ปรัชญาทางรัฐศาสตร์และตกต่ำในสมัยนี้
ภาระหน้าที่ในการพัฒนาความรู้และวิธีการทางวิทยาศาสตร์
อันรวมไปถึงงานทางวิชาการด้านต่าง ๆ
โดยเฉพาะงานเขียนเกี่ยวกับปรัชญาความรู้ทางการเมืองของสมัยกรีกโบราณ
ยังคงได้รับการสืบทอดรักษาจนกระทั่งมาเป็นมรดกของโลกในปัจจุบันโดยพวกนักปราชญ์หรือปัญญาชนชาวอาหรับ
โดยอาศัยการแปลต้นฉบับมาเป็นภาษาอาหรับที่แพร่หลายในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-11
ก่อนที่จะกลับมาฟื้นฟูในยุโรปอีกครั้งหนึ่งในยุคเรเนอซองค์หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
เป็นที่น่าสนใจกล่าวถึงว่าศาสนจักรสมัยนั้นเข้ามามาบทบาทในปริมณฑลทางการเมืองการปกครองทางโลกได้อย่างไร
ปัญหาข้อนี้พิจารณาได้จากผลงานเขียนของ อนุสรณ์ ลิ่มมณี (2542B,
12-14) ได้ว่า การเติบโตของคริสตศาสนจักรได้แยกรัฐออกจากสังคม
จากเดิมเคยเป็นมาในลักษณะคล้ายนครรัฐของกรีกโบราณที่เป็นแบบรัฐสังคมที่ได้กล่าวไปแล้ว
และเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับสังคมได้ขยายกว้างมากขึ้นในยุคจักรวรรดิโรมันที่รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมเป็นไปอย่างเสรี
บุคคลมีสิทธิเสรีภาพและเริ่มคิดเรื่องส่วนตัว (private) หรือกล่าวได้ว่ามีความเป็นปัจเจกชนนิยมมากขึ้น
ในขณะเดียวกับที่ความคิดทางศาสนาได้กันคนออกจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม
อันเป็นเรื่องที่จะต้องเกี่ยวกับรัฐ
คนเริ่มมีโลกส่วนตัวที่อสวงหาศาสนามาเป็นเครื่องยืดเหนี่ยวมากขึ้น
กระทั่งอำนาจของคริสตจักรได้แทรกซึมไปมีอิทธิพลเหนือจิตใจของผู้คนในสังคม และเริ่มแผ่อิทธิพลอำนาจเชิงปกครองไปยังประชาชนโดยตรง
โดยอาศัยระยะเวลาหลายร้อยปีผ่านพีธีกรรมและการตีความหลักการทางศาสนาและการหล่อหลอมกล่อมเกลาความเชื่อทางศาสนาที่คาบเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง
รวมทั้งการเสนอแนวคิดทฤษฎีทั้งหลายที่เกี่ยวกับอำนาจของศาสนจักรและอำนาจสองฝ่าย (Theories
of Dyarchy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิสองอำนาจ (Doctrine of
Two Powers)ในช่วงศตวรรษที่ 1 ถึงศตวรรษที่ 5
ลัทธิเกี่ยวกับสภาพแห่งจุดมุ่งหมายทางโลก (Doctrine of the
Nature of Temporal End)ที่ได้เสนอไว้ในช่วงศตวรรษที่ 13 การยกเลิกอำนาจของฝ่ายอาณาจักรในสมัยสันตปาปา Boniface ที่ 8 ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14
แต่อย่างไรก็ดี
ศาสนาจักรก็มิได้มีบทบาทในการเมืองการปกครองรัฐและสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว
ฝ่ายอาณาจักรที่เป็นผู้ปกครองตามระบบฟิวดัล (Feudalism) ก็ยังมีอำนาจส่วนหนึ่งในการปกครองอาณาจักร
และได้พัฒนาความเข้มแข็งของกองกำลังทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อจุดประสงค์แรกเริ่มในการคานอำนาจ
กระทั่งต่อมาได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่วนสำคัญในการริดลอดลดทอนบทบาทและอำนาจของฝ่ายศาสนจักรต่อการแทรกแซงสังคมให้ลดลง
นอกเหนือไปจากปัจจัยอีกอย่างน้อย 2 ประการซึ่งได้แก่ การเติบโตขึ้นของแนวคิดเชิงปัจเจกชนนิยมและระบบการผลิตแบบทุนนิยม
รวมถึงการตีความศาสนาในแนวทางใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของปัจเจกชนและไม่จัดกับการแสวงหากำไรจากการผลิตของชนชั้นกลาง
(bourgeoisie) และการปฏิรูปศาสนาในช่วงต้นศตวรรษที่ 16
จากการเรียกร้องของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King)
นักบวชในคริสตจักรชาวเยอรมัน
ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
(the Age of Renaissance) ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในประเทศอิตาลีในราวต้นศตวรรษที่
14 จารการที่บรรดาปัญญาชนในยุคนั้นได้หันกลับมาให้ความสนใจผลงานด้านต่าง
ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาการเมืองการปกครอง
อุดมการณ์แห่งรัฐและสังคมของกรีกโบราณและโรมันอย่างเอาจริงเอาจัง
ความสนใจนี้ได้แพร่หลายออกไปสู่ประเทศทางยุโรปตอนบน
ในลักษณะของขบวนการทางศิลปะและวิชาการที่อาศัยรากฐานความรู้ของกรีกโบราณ อาทิ
ศิลปกรรม วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ ปรัชญา การเมืองการศึกษาและการศาสนา
ซึ่งได้ยังผลต่อเนื่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อในหมู่ประชากร
เบิร์น (Edward Burns 1963, 384) กล่าวว่า ผู้คน
ในสังคมยุโรปสมัยนั้นเริ่มมีโลกทัศน์ที่กว้างขวางยึดถือความเชื่อในเรื่องในของการแสวงหาความสุขส่วนบุคคลหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และความเป็นปัจเจกชนนิวม
(Individualism) มากขึ้น พร้อม ๆ
ไปกับการเติบโตของระบบการผลิตแบบทุนนิยม
ซึ่งเกื้อหนุนกับความคิดแบบปัจเจกชนนิยมดังกล่าว
ประกอบกับการถูกลดทอนลงของอำนาจพระสังฆราช (pope) และจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
(Holy Roman Emperor) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการปฏิรูป(the
Reformation) ภายใต้อำราจการปกครองและอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งของกษัตริย์ที่ได้เติบโตถ่วงดุลอำนาจใหม่ระหว่างอาณาจักรและศาสนจักรในคาบเวลาต่อมา
การศึกษารัฐศาสตร์ในยุคนี้จึงได้หวนกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง ด้วยการนำองค์ความรู้และผลวารของนักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ในสมัยกรีกโบราณและโรมันมาปัดฝุ่นอีกครั้งดังกล่าว
วิวัฒนาการของรัฐศาสตร์ได้เดินทางเรื่อยมากระทั่งถึง
ยุคใหม่ ซึ่งนับเริ่มตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วีระสัย และอวยชัย ชบา ได้อธิบายว่า ในยุคนี้
วิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์มักไม่สนใจในเรื่องมาตรฐานของความดีหรือความชั่วความควรหรือไม่ควรในทางการเมือง
แต่หันไปให้ความสนใจกับการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขี้นเป็นกรณี ๆ
ไปหรือที่เรียกกันว่า การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioralism ดู “BEHAVIORALISM” ) ด้วยการให้ความสำคัญกับแหล่งข้อมูลที่ได้จาการรวบรวมเชิงประจักษ์และผ่านกระบวนการแสวงหาความรู้ที่อิงแนวคิด
ทฤษฎีหรือข้อสรุปทั่วไป(Generalization) มากกว่าในยุคแรกที่เป็นการศึกษาเชิงปรัชญาทางการเมือง
(บรรพต วีระสัย และอวยชัย ชบา 2525, 16)โดยมุ่งพิจารณาเป้าหมายต่าง
ๆ
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือการเสนอแนะรูปแบบการประพฤติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
16 นี่เป็นสิ่งที่อธิบายให้เห็นได้ว่าเหตุใดการศึกษารัฐศาสตร์โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่
2 จึงมุ่งเน้นไปในเรื่องของการศึกษาปรากฎการณ์และพฤติกรรมทางเมือง
การลำดับวิวัฒนาการของการศึกษาหรือความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น
เราอาจสรุปเป็นหัวข้อการแบ่งวิวัฒนาการของการศึกษารัฐศาสตร์ออกเป็น 4 สมัยด้วยกัน ดังที่ ทินพันธ์ นาคะตะ (2541, 14-17) ได้เสนอดังนี้
1. สมัยที่ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาทางศีลธรรมทั่วไป
ในสมัยนี้
นับเนื่องจากสมัยกรีกโบราณจนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นเวลายาว นานประมาณ 2,500 ปี
ลักษณะสำคัญของการศึกษารัฐศาสตร์ยุคนี้คือวิชาการเมืองยังคงรวมศึกษาอยู่ในการศึกษาเกี่ยวกับสังคมทั่วไป
จึงยังไม่ปรากฎสาขาวิชาย่อยใด ๆ ของศาสตร์ว่าด้วยดารเมืองเช่นในสมัยปัจจุบัน
การศึกษาได้เน้นในเรืองความเป็นมาของความคิดทางการเมืองในสังคมตะวันตก
โดยในสายตัวของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาแบบเน้นความเป็นศาสตร์
รัฐศาสตร์ในยุคนี้มิได้มีความเป็นศาสตร์อันแท้จริงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื้อหาสาระของวิชาส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยหัวข้อที่มีความสัมพันธ์กันน้อย
ขาดแนวคิดทางทฤษฎีที่ชัดเจนและขาดระเบียบวิธีการศึกษาที่รัดกุม
โดยมีลักษณะเป็นการรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาสังคมในสมัยหนึ่ง ๆ
ซึ่งไม่ค่อยซ้ำแบบกันมาศึกษาเท่านั้น
2. สมัยการศึกษาในเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐ
การศึกษารัฐศาสตร์ในยุคนี้กล่าวได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่
19 ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการศึกษารัฐศาสตร์ที่เน้นวิชาการเมืองที่มีลักษณะเป็นศาสตร์
โดยมีนักคิดสำคัญชื่อศาสตราจารย์เบอร์เกส (J. W.Burgess) ร่วมกับนักคิดหลายท่านเป็นผู้นำแนวทางการศึกษาแบบปฏิฐานนิยม
(Positivism)ของเจเรมี่ เบนแธม (Jeremy Bentham) และออสติน แรนนี่ (Austin Ranney) มาปรับใช้ในการศึกษาความเป็นไปไม่เกี่ยวกับรัฐ
นับจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเริ่มปรากฎตำราต่าง ๆ
ทางรัฐศาสตร์อย่างมากมายหลากหลาย
โดยเน้นความสนใจศึกษาในเรื่องความก้าวหน้าของกฎหมาย ข้อกำหนดทางกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองแบบต่าง
ๆ อำนาจที่เป็นทางการของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และศาล
ประกอบควบคู่กับการศึกษาเรื่องปรัชญาการเมืองโบราณเป้าหมายของการปกครองและเป้าหมายของรัฐ
และเน้นศึกษาความเป็นจริงทางการเมืองต่าง ๆ มากขึ้น
3. สมัยการศึกษารัฐศาสตร์เชิงอำนาจ
หรือระยะที่สาม
การศึกษาการเมืองในยุคนี้ได้เน้นความสนใจศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มต่าง
ๆ ที่ต่อสู้แข่งขันกันเพื่อมีอำนาจทางการเมือง จวบจนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 ความประการนี้พิจารณาจากแนวคิดของนักวิชาการสำคัญบางท่านได้แก่
เบนท์ลี่ (Bently) และทรูแมน (Truman) ที่เห็นว่ากิจกรรมทางการเมืองเป็นปรากฎการณ์ของกลุ่มหรือการเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่าง
ๆ หรือเป็นการศึกษาที่เน้นในเรื่องกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมือง
ซึ่งเป็นความพยายามอธิบายว่าการเมืองเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ
เพื่อมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือการปกครองและนโยบายสาธารณะ
อันเป็นการขยายขอบเขตของการศึกษาให้กว้างขวางมากขึ้นไปกว่าการยึดหลักกฎหมายและสถาบันที่มีอยู่ในสังคม
ในระยะนี้เอง การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ได้ประกอบไปด้วยเรื่องปรัชญาทางการเมือง
กฎหมายมหาชน การปกครองภายในประเทศรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจ
การปกครองเปรียบเทียบและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศความก้าวหน้าเช่นนี้ส่งผลประการสำคัญต่อการศึกษารัฐศาสตร์ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์
ซึ่งมีทฤษฎีต่าง ๆ สำหรับเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเน้นในการปฏิบัติที่สนใจศึกษาปัญหาต่าง
ๆ ของสังคม
4. สมัยการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์(Behavioralism)
เป็นยุคที่การศึกษารัฐศาสตร์มีพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่
2 หรือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กล่าวคือ เป็นการศึกษารัฐศาสตร์โดยหันมาให้ความสนใจอธิบายสาเหตุของปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่
มีการนำเทคนิคในเชิงศาสตร์(Science) อย่างมีแนวคิดและทฤษฎีเป็นกรอบกำหนดความสัมพันธ์ของสิ่งที่ศึกษามาศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของตัวบุคคล
เช่น การศึกษาทัศนคติ สิ่งจูงใจ ค่านิยมแทนการศึกษาในรัฐศาสตร์ในเชิงโครงสร้างและสถาบัน
ซึ่งมีผลทำให้วิชาการเมืองหรือรัฐศาสตร์ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นศาสตร์เชิงวิเคราะห์มากขึ้น
การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์นี้
กล่าวได้ว่าเป็นแนวทางการวิเคราะห์ที่แตกต่างไปจากแนวการศึกษาในรัฐศาสตร์แบบเก่า (Traditional
Method) ซึ่งเป็นการใช้แนวทางการวิเคราะห์รัฐศาสตร์ด้วยปรัชญาทางการเมืองคลาสสิค
อันจัดว่าเป็นวิธีการที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุด
และมีลักษณะสำคัญเน้นในการประเมินค่าทางการเมือง
การวินิจฉัยสถาบันหรือวิธีดำเนินการทางการเมืองว่าอย่างไรดี อย่างไรเลว
อย่างไรจึงจะยุติธรรม และนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีของประชาชน 22 ด้วยการอนุมาน (deductive) มากกว่าการพิจารณาความเป็นเหตุเป็นผล
(rationlity) เช่นที่ได้กล่าวถึงแนวความคิดของเพลโต้และอริสโตเติ้ลเป็นตัวอย่างการใช้รูปแบบการประเมินหรือการวินิจฉัยคุณค่าด้วยแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งจากนักวิชาการรุ่นใหม่ที่แสวงหาความเป็นสากลและความน่าเชื่อถือในความรู้ของรัฐศาสตร์
ด้วยเหตุนี้ในปี
1920 นักรัฐศาสตร์อเมริกันบุคคลสำคัญซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ชื่อชาร์ลส์
เมอร์เรี่ยม (Charles E.Merrian) จึงได้นำเสนอรูปแบบการวิเคราะห์ทางการเมืองแบบพฤติกรรมขึ้น
โดยนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแสวงหาความรู้สำหรับทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ทางการเมือง
โดยเฉพาะ พฤติกรรมทางการเมืองของปัจเจกบุคคลอย่างเป็นระบบมากขึ้น
ซึ่งมีขอบเขตตั้งแต่การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบที่ไม่เคร่งครัดมากนัก
เพียงแต่มีลักษณะของการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantification) ที่เป็นระบบและใช้การสังเกตการณ์
ไปจนถึงการใช้หลักการและสมมติฐานทางการวิจัยอย่างรัดกุมสมบูรณ์แบบมากกว่าการเป็นประเด็นทางปรัชญาโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัมนาข้อสรุปทั่วไปที่สร้างขึ้นจากข้อมูลเชิงประจักษ์
(Empirical Generalization) และสร้างทฤษฎีที่เป็นระบบ (Systematic
Theory) หรือมีทฤษฎีไว้เป็นแนวทางที่ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์
นำไปอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง
อันได้รับการกล่าวถึงว่าจะเป็นผลดีต่อวิชารัฐศาสตร์เป็นอันมาก
ดังความเห็นของอีสตัน (David Eastion) นักรัฐศาสตร์ชื่อก้อง
เจ้าของแนวคิดทฤษฎีระบบ ในสารานุกรม Intermational Encyclopedia of Social
Science (1968) และยังช่วยให้นักรัฐศาสตร์สามารถมุ่งความสนใจศึกษาปัญหาเล็ก
ๆ น้อย ๆ แต่มีความสำคัญต่อสังคม และศึกษาได้ง่ายขึ้น เช่น
การศึกษาพฤติกรรมในการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน เป็นต้น
การศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมีความหมายเช่นไร
จำเป็นเพียงไหนและมีลักษณะอย่างไร จะได้กล่าวถึงไว้โดยสังเขปเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ศึกษาดังนี้
การศึกษารัฐศาสตร์ในรูปแบบพฤติกรรมศาสตร์นั้นกล่าวได้ว่าเริ่มต้นกล่าวถึงกันนับแต่ทศวรรษ
1930 เป็นต้นมา โดยอิทธิพลของแนวคิดปฏิฐานนิยมเชิงตรรก
(Logical Positivism) ที่ได้ฝังรากลึกลงในการศึกษาวิทยาการทางสังคมศาสตร์อย่างกว้างขวาง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ช่วยให้เกิดการวางกรอบความคิดทฤษฎีและขอบเขตของการศึกษาสาขาต่าง
ๆ รวมทั้งรัฐศาสตร์ที่ชัดเจนสอดคล้องกับความคิดและสิ่งที่ศึกษาในแต่ละเรื่อง
หรือช่วยสร้างรูปแบบวิธีการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับกันถึงความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
23 อันส่งผลให้การศึกษาในแบบปรัชญาและแนวนิติสถาบัน
ซึ่งไม่มีรูปแบบและไม่สามารถพิสูจน์โดยหลักทางตรรกศาสตร์ได้ถูกกีดกันออกไปจากวงการวิชาการรัฐศาสตร์ในสังคมตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจาก
ค.ศ. 1950 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสนใจอย่างเข้มข้นและความพยายามในการผลักดันให้การศึกษารัฐศาสตร์เป็นการศึกษาที่อิงวิทยาศาสตร์
ดังกล่าวได้เปิดทางให้ปรัชญาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) เข้ามามีอิทธิพลของการศึกษารัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมศาสตร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลต่อการศึกษาและวิเคราะห์การเมือง (Gabriel A. Almond
1990, chapter 2) ที่ยังได้รับความนิยมมาจนปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-2-31538.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น